วันผู้สูงอายุที่ญี่ปุ่น (敬老の日) และดอกไม้ยอดนิยม

นับวันจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะที่ประเทศญี่ปุ่นขณะนี้จำนวนประชากรผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก ที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับวันผู้สูงอายุอย่างไรบ้าง มาติดตามกันค่ะ

  หากพูดถึงวันผู้สูงอายุที่ไทย คือ วันที่13เมษายน ซึ่งตรงกับช่วงสงกรานต์หรือปีใหม่ไทยที่ลูกหลานจะกลับไปกราบไหว้ผู้ใหญ่ ส่วนที่ญี่ปุ่นวันผู้สูงอายุคือวันจันทร์ที่ 3ของเดือนกันยายน ซึ่งปีนี้ตรงกับ วันที่20 กันยายน 2021ก่อนหน้านี้จริงๆแล้ววันผู้สูงอายุของญี่ปุ่นคือ วันที่15กันยายนมาโดยตลอดจนกระทั่งปี2002 จากการสำรวจเรื่องHappy Mondayจึงทำให้ตั้งแต่ปี2013เป็นต้นมาได้เปลี่ยนวันผู้สูงอายุเป็นวันจันทร์ที่3ของเดือนกันยายนจนถึงปัจจุบัน ในบทความนี้จะมาเล่าถึงจุดเริ่มต้นของวันผู้สูงอายุที่ญี่ปุ่น รวมทั้งของขวัญที่นิยมส่งให้กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องดอกไม้

จุดเริ่มต้นของวันผู้สูงอายุ

  วันผู้สูงอายุถือต้นกำเนิดจากประเทศญี่ปุ่น ย้อนกลับไปเมื่อปีค.ศ.1947ในหมู่บ้าน Nomadani เขตทากะ จังหวัดเฮียวโกะ(ปัจจุบันคือเมืองทากะ) มีคติประจำเมืองว่า “ควรให้ความสำคัญกับคนแก่และพัฒนาเมืองโดยใช้ภูมิปัญญาของคนแก่” ทั้งหมดนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของวันโทชิโยริ โนะ ฮิ (としよりの日) หรือ วันคนแก่

  ต่อมาเนื่องจากเดือนกันยายนเป็นเดือนเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร ภูมิอากาศค่อนข้างดี คนในหมู่บ้านโนมะดานิจึงกำหนดให้วันที่ 15กันยายน เป็น “วันโทชิโยริ โนะ ฮิ (としよりの日) หรือ วันคนแก่”จากนั้นในปีค.ศ.1950ได้แผ่ขยายไปทั่วจังหวัดเฮียวโงะ และในเวลาต่อมาค่อยๆจึงกระจายไปทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามชื่อเรียก “วันโทชิโยริ โนะ ฮิ (としよりの日) หรือ วันคนแก่”ดูจะไม่ค่อยเหมาะสมนัก จึงมีการเปลี่ยนชื่อเรียกเป็น “วันโรวจิน โนะ ฮิ(老人の日)หรือ วันคนชรา” ในปีค.ศ.1964และในปีค.ศ.1966 กลายเป็นวันหยุดประจำชาติเพื่อเคารพผู้สูงอายุ และเปลี่ยนชื่อเรียกเป็นภาษาทางการว่า “วันเคโรวโนะฮิ (敬老の日) หรือ วันผู้สูงอายุ”

ผู้สูงอายุนั้นเราใช้หลักเกณฑ์อะไร

  หน่วยงานสวัสดิการผู้สูงอายุ กำหนดให้บุคคลที่มีอายุมากกว่า65ปีขึ้นไปคือผู้สูงอายุ ทั้งนี้WHOก็ใช้หลักเกณฑ์ 65ปีเป็นเกณฑ์เช่นเดียวกัน จึงถือได้ว่าอายุ65ปีขึ้นไปเป็นมาตรฐาน ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้ที่จะมอบของขวัญให้กับผู้สูงอายุก็คือคนในครอบครัวโดยเฉพาะจากหลาน

โพลล์สำรวจของขวัญที่ผู้สูงอายุประทับใจ

  

อันดับ 1ดอกไม้ 40%
อันดับ 2ท่องเที่ยว 14%
อันดับ 3 ขนมและเซ็ตของแห้ง13%    
อันดับ 4โทรศัพท์และการ์ด13%

  จากโพลล์ด้านบนอันดับหนึ่งในใจคือดอกไม้ ซึ่งเป็นของขวัญที่ทำให้ผู้รับสดชื่นเบิกบาน เพราะดอกไม้แต่ละชนิดมีความหมายในตัวมันเอง สามารถสื่อความในใจจากผู้ส่งถึงผู้รับ

  ดอกกระดิ่งลม หรือ ดอกรินโดว ถือเป็นดอกไม้ยอดนิยมที่ส่งให้ในวันผู้สูงอายุ มีความหมายว่า “ชัยชนะ” หลายท่านอาจจะสงสัยว่าชัยชนะอะไร?ขออธิบายคร่าวๆว่า เนื่องจากรากของดอกรินโดวนั้นมีสรรพคุณทางยาชนะโรคภัยไข้เจ็บ จึงเป็นที่มาของคำว่าชัยชนะ อีกทั้งยังมีความหมายแฝงในการอวยพรให้ผู้รับมีอายุยืนยาว ชนะโรคภัยไข้เจ็บทั้งปวง

นอกจากนี้ยังมีดอกไม้อื่นๆที่มีความหมายเหมาะสม เช่น

ดอกกล้วยไม้ ตระกูลฟาแลนนอปซิส เป็นดอกไม้ที่ให้ความรู้สึกหรูหรา มีราคา และยังมีความหมายว่า “นำพามาซึ่งความสุข”

ดอกคาร์เนชั่นสีชมพู ตัวดอกมีความกลมและกลีบที่พลิ้วบาง ช่วยสร้างบรรยากาศให้จิตใจผ่อนคลาย ความหมายดอกไม้ว่า “ความสวยงาม และ ขอบคุณ”

ดอกกุหลาบชมพู ซึ่งใส่แล้วให้ความรู้สึกหรูหรา มีความหมายว่า “ขอบคุณ”

ดอกยิปโซซึ่งเป็นดอกรองที่สามารถจัดแซมให้เข้ากับทุกรูปแบบนั้น ช่วยให้ภาพรวมของช่อดอกไม้ดูนุ่มนวล โดยมีความหมายว่า “ขอบคุณ และ ความสุข”

ดอกลิลลี่ เหมาะที่จะส่งให้ผู้สูงอายุฝ่ายชาย เพราะเป็นดอกไม้ที่ไม่ได้ดูอ่อนหวานจนเกินไป มีความหมายว่า “ขอบคุณ”

ดอกมัม เนื่องจากมีลักษณะการบานและการไล่สีที่ดึงดูดสายตา จึงเป็นอีกหนึ่งดอกที่ได้รับความนิยมส่งให้ผู้สูงอายุฝ่ายชาย มีความหมายว่า “หรูหรา”

ทั้งนี้นอกจากส่งดอกไม้แบบจัดช่อ ดอกไม้ตั้งโต๊ะแล้ว หากผู้รับชอบปลูกดอกไม้ ต้นไม้สามารถส่งดอกไม้กระถางไปได้เช่นกัน

ต้นไทรแคระ ที่เกาะโอกินาว่าเชื่อว่าเป็นต้นไม้ที่มีเทพแห่งโชคลาภสถิตอยู่ จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า “ต้นไม้แห่งโชคลาภ”

จำนวนผู้สูงอายุยิ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆเนื่องจากเทคโนโลยีการแพทย์ที่เจริญก้าวหน้า อีกทั้งโภชนาการที่ดี ตรงข้ามกับอัตราการเกิดที่ค่อนข้างลดลง จึงทำให้ผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับวันผู้สูงอายุมากขึ้น