เมื่อฉันไปเป็นเพื่อนเจ้าสาวที่อิวาเตะ EP 1

It’s time for my best friend’s wedding: เล่าประสบการณ์ครั้งแรกและ (น่าจะ) ครั้งเดียวในชีวิตกับการทำหน้าที่เพื่อนเจ้าสาวที่ญี่ปุ่น

สำหรับเรา เดือนกรกฎาคมถือเป็นเดือนที่อีเว้นต์เยอะมาก

ทั้งวันเกิดคุณแม่ วันเกิดเพื่อน วันเกิดเมน สมัยอยู่เกียวโตก็มีเทศกาลทานาบาตะกับทริปตะลอนดูดอกไฮเดรนเยีย ส่วนสมัยทำงานออฟฟิศก็เป็นช่วงปิดเล่มรายงานประจำไตรมาส เรียกได้ว่ามีโน้ตเตือนความจำจดเต็มหน้าปฏิทินยาวไปทั้งเดือน จนพอมาปี 2018 เราก็มีวันพิเศษในเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งวัน 

ซึ่งก็คือ วันครบรอบแต่งงานของโนโซมิ —- Best Friend ของเรานั่นเองค่ะ

เราได้บินไปร่วมงานแต่งงานของโชเฮและโนโซมิที่ญี่ปุ่นเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมปี 2018 นั่นเป็นครั้งแรกเลยที่เราได้เข้าร่วมงานแต่งงานที่ประเทศญี่ปุ่น เลยมีธรรมเนียมต่างๆ นานาที่เราเองก็เพิ่งได้รู้จัก และมีเรื่องราวน่าสนใจมากมายที่น่าเอามาเล่าสู่กันฟัง 

ไหนๆ จะครบรอบวันแต่งงานของเพื่อนทั้งที เราขอถือโอกาสเอาประสบการณ์สนุกๆ ในฐานะเพื่อนเจ้าสาวที่อิวาเตะเมื่อสามปีก่อนมาเล่าให้คุณฟังดีกว่า


เตรียมตัวไปงานแต่ง

เพราะเป็นงานแต่งงานที่ ‘ญี่ปุ่น’ ประเทศแห่งความละเอียดและระเบียบพิธีรีตรอง แน่นอนว่าเราจะไปงานแต่งแบบตัวปลิวพร้อมการ์ดเชิญและเงินใส่ซองอย่างเดียวไม่ได้ มันต้องมีการเตรียมตัวสิ! 

อันดับแรก รีบตอบรับว่าเราเข้าร่วมได้หรือไม่ได้

หลังได้รับคำเชิญงานแต่งแล้ว รีบสำรวจตารางงานและตอบรับเจ้าบ่าวเจ้าสาวเลยว่าจะไปร่วมงานได้หรือไม่ได้ งานแต่งงานที่ญี่ปุ่นเป็นงานแบบปิด แขกที่เข้าร่วมงานจะมีแค่คนที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบ่าวสาวเท่านั้น โดยส่วนมากเป็นคนในครอบครัว นอกจากนั้นก็จะเป็นเพื่อนที่สนิทกันมากๆ หรือเจ้านายผู้มีพระคุณ สถานที่จัดงานแต่งต้องจองล่วงหน้าหลายเดือน (อย่างกรณีของโนโซมิคือจองข้ามปี) และมีการกำหนดจำนวนแขกเข้าร่วมงานแบบเป๊ะๆ ดังนั้นถ้าบ่าวสาวคอนเฟิร์มจำนวนแขกผู้ร่วมงานได้ยิ่งเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี

อันดับที่สอง เงินใส่ซอง

ตามธรรมเนียมของญี่ปุ่น แขกที่เข้าร่วมงานทุกคนจะนำเงินใส่ซองเป็นของขวัญให้บ่าวสาว เรียกว่า โกะชูงิ (ご祝儀)  ซึ่งมีกำหนดจำนวนเงินอยู่ที่อย่างน้อย 30,000 เยน (ประมาณ 10,000 บาท) แต่ถ้าเป็นแขกผู้ใหญ่อาจจะสูงถึง 50,000 – 100,000 เยนเลยทีเดียว

การเลือกจำนวนเงินใส่ซองก็มีรายละเอียดเช่นกัน ข้อแรกคือควรเลี่ยงจำนวนที่มีเลข 4 หรือ 9 เพราะเป็นเลขไม่มงคล โดยเลข 4 พ้องเสียงกับคำว่าตาย (ในภาษาญี่ปุ่นเลข 4 อ่านว่า ชิ 四 พ้องเสียงกับคำว่า ชินุ 死ぬ แปลว่าตาย) ส่วนเลข 9 พ้องเสียงกับคำว่าทรมาน (เลข 9 อ่านว่า คิวหรือคุ 九 พ้องเสียงกับคำว่า คุรุชี่ 苦しい แปลว่าทรมาน) ข้อสองคือเลี่ยงเลขคู่ ซึ่งหารลงตัว จึงแฝงความหมายว่าแบ่งแยก เลิกรากันได้ ถือเป็นเลขไม่ดี เช่น สองหมื่นเยน หกหมื่นเยน เป็นต้น

เงินที่ใส่ซองควรเป็นธนบัตรใหม่ เรียบสวยไร้รอยยับ ส่วนซองใส่เงินต้องเป็นซองแบบพิเศษเรียกว่า ชูงิบุคุโระ (祝儀袋) ซึ่งเป็นซองใส่เงินของขวัญสำหรับโอกาสพิเศษต่างๆ หน้าซองจะมีเชือกสีๆ ขมวดเป็นปมสวยงาม สามารถหาซื้อได้ที่ร้านเครื่องเขียนหรือร้านสะดวกซื้อทั่วไปค่ะ  พอใส่เงินและปิดซองแล้วอย่าลืมเขียนชื่อเราที่ด้านหน้าซองด้วย จะมีกระดาษสีขาวแผ่นยาวรวมอยู่ในเซ็ต เราซื้อชูงิบุคุโระเตรียมมาจากไทยเพราะกลัวว่าจะไม่มีเวลาไปหาซื้อที่ญี่ปุ่น แต่สุดท้ายก็เอาเงินใส่ซองไม่เป็นอยู่ดี จบที่คุณ receptionist ของโรงแรมที่อิวาเตะช่วยจัดการให้ค่ะ (กราบขอบคุณมา ณ ที่นี้) 

อันดับที่สาม เตรียมชุดไปงาน

ที่ญี่ปุ่นไม่มีกำหนดธีมสีชุดของผู้เข้าร่วมงานค่ะ แต่ตามมารยาทคือ ‘ห้ามใส่สีขาว’ เนื่องจากเป็นสีของเจ้าสาว เราจะไปแย่งซีนเจ้าสาวไม่ได้ สำหรับแขกผู้ชายก็ใส่สูท แขกผู้หญิงขอเป็นชุดกะโปรงเรียบร้อย ถ้าใส่ชุดแขนกุดควรมีผ้าคลุมไหล่ ส่วนสีชุดนั้นขึ้นอยู่กับบ่าวสาวเลยค่ะ บางงานเป็นสีอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่สีขาวก็พอ แต่เท่าที่เราสังเกตแขกส่วนใหญ่จะใส่สีน้ำเงินเข้มหรือสีดำ

ใช่ค่ะ คุณอ่านไม่ผิดหรอก ที่ญี่ปุ่นเราใส่สีดำไปร่วมงานแต่งงานได้ ถือว่าถูกต้องตามมารยาทและเป็นสีที่สุภาพที่สุด อันนี้เป็นข้อแตกต่างสำคัญกับงานที่ไทย

อันดับสุดท้าย เตรียมการแสดงสุดพิเศษ เย่ !

ข้อนี้พิเศษสำหรับเพื่อนเจ้าบ่าวและเพื่อนเจ้าสาวค่ะ ถ้าเป็นงานแต่งที่ไทย หน้าที่ของเพื่อนเจ้าสาวคือให้กำลังใจ เป็นที่ปรึกษา ช่วยโปรยดอกไม้ รับแขกด้านหน้า เป็นพิธีกร ฯลฯ แต่สำหรับงานแต่งที่ญี่ปุ่นเขาจะจ้างออแกไนเซอร์ทำทุกอย่างให้เสร็จสรรพ ส่วนหน้าที่ของเพื่อนบ่าวสาวนอกจากจะไปร่วมงานแล้วก็คือเตรียมการแสดงเล็กๆ น้อยๆ สร้างความบันเทิงในงานนั่นเอง

สำหรับงานแต่งของโนโซมิมีเพื่อนเจ้าสาวเป็นตัวแทนจากไทย 2 คน นอกจากเราคนเขียนแล้วก็มี แจน ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทในกลุ่มเดียวกัน มีกันอยู่สองคนจะแสดงอะไรก็รู้สึกเขินๆ ตอนแรกเลยคุยกันว่างั้นเตรียมเป็นสุนทรพจน์ไปแล้วกัน คนนึงพูดเป็นภาษาไทย อีกคนพูดแปลเป็นภาษาญี่ปุ่น

แต่ แต่ แต่ สองเดือนก่อนจะถึงงาน เราแอบไปรู้มาว่าฝั่งเพื่อนเจ้าบ่าวเขาเล่นใหญ่ค่ะ เขาจะเต้น! แถมยังมีทำ VTR เป็นการอินโทรอีก! อื้อหือ พอได้ยินมาแบบนี้ในฐานะตัวแทนจากประเทศไทยจะไปยอมได้ไง ที่หลังคือแบกศักดิ์ศรีทั้งเพื่อนเจ้าสาวและประเทศไทยไว้ เธอเล่นใหญ่มาฉันต้องใหญ่กว่า เลยตกลงกันว่านอกจากพูดสุนทรพจน์แล้วเราจะร้องเพลงและดีดอูคูเลเล่เพลง ‘เวลาเธอยิ้ม’ ของ Polycat เป็นของขวัญให้โนกับโชเฮด้วย

เตรียมตัวครบสี่อย่างนี้แล้วก็เหลือแค่จองตั๋วเครื่องบิน ลางานกับหัวหน้า 1 สัปดาห์ (เพราะเราจะไปเที่ยวต่อด้วย ฮี่ฮี่) จัดกระเป๋าเตรียมพร้อม กะพริบตาอีกทีก็ถึงวันบินไปญี่ปุ่นแล้ว


หนึ่งวันก่อนงานแต่ง

Wedding Present

มี้ มี้ มี้

ได้ยินเสียงจั๊กจั่นดังต้อนรับทันทีที่เราก้าวลงจากรถไฟที่เมืองคิตะคามิ (Kitakami) จังหวัดอิวาเตะ

งานแต่งงานของโนโซมิและโชเฮจัดขึ้นที่จังหวัดอิวาเตะซึ่งเป็นบ้านเกิดของเจ้าบ่าว งานจัดในวันอาทิตย์กลางฤดูร้อน เราและครอบครัวโนโซมิจึงบินจากกรุงเทพฯ มาถึงญี่ปุ่นในเช้าวันเสาร์ อิวาเตะเป็นจังหวัดหนึ่งในภูมิภาคโทโฮคุ (Tohoku) ทางตอนเหนือของเกาะฮอนชู จากโตเกียวนั่งรถไฟชินกันเซ็นใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง 

มื้อแรกในญี่ปุ่นของเราทริปนั้นคือข้าวกล่องบนรถไฟ สำหรับขบวนจากโตเกียวไปอิวาเตะมีสองคัน ชื่อว่า Yamabiko กับ Hayabusa ด้านในสะอาดสะอ้านมีที่วางกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ ด้านหน้าห้องน้ำมีโซนสำหรับให้สาวๆ ยืนแต่งหน้าด้วยล่ะค่ะ นั่งกินข้าวสัปหงกไปหนึ่งตื่นรถไฟก็แล่นเข้ามาจอดที่สถานีเมืองคิตะคามิ พอลงจากสถานีก็เจอโนโซมิและโชเฮขับรถมารอรับอยู่แล้ว

ช่วงบ่ายก่อนงานแต่งหนึ่งวัน เจ้าบ้านจะมาพาเราไปเที่ยวเป็นการต้อนรับก่อนด้วยล่ะ น่ารักจริงๆ 

จุดหมายแรกของบ่ายวันนี้คือคาเฟ่ติดภูเขา ชื่อว่า Satoyama Cafe Tasaburo Sanso (ชื่อยาวจริง ขอเรียกสั้นๆ ว่าคาเฟ่ภูเขาแล้วกัน) คาเฟ่ภูเขาแห่งนี้มีคุณลุงเป็นเจ้าของร้านซึ่งบริหารจัดการเองทุกอย่าง ตั้งแต่รับออเดอร์ ชงเครื่องดื่ม เสิร์ฟขนม และคิดเงิน ฯลฯ ด้านในร้านตกแต่งแบบเรียบๆ เหมือนอยู่ในบ้าน มีหน้าต่างบานใหญ่ที่มองออกไปเป็นวิวทุ่งหญ้ากับภูเขา ถ้ามาช่วงฤดูใบไม้ร่วงคงจะโรแมนติกน่าดู

เราสั่งไอศกรีมวานิลลากับน้ำส้มมาดับร้อน นั่งละเลียดไอศกรีมไป คุยอัพเดทชีวิตกับเพื่อนไป ด้านนอกมีเสียงจั๊กจั่นดังเป็นระยะ  เป็นบรรยากาศยามบ่ายที่สบายใจสุดๆ จะว่าไปก็เหมือนกับเรามาเป็นแขกที่บ้านคุณลุงเลยนะเนี่ย ด้านนอกร้านมีพุ่มดอกไฮเดรนเยียกำลังบานเต็มที่ เราก็ไม่พลาดโอกาสไปแชะภาพเก็บไว้ค่ะ 

ต่อจากคาเฟ่ภูเขา ก็คือร้านดอกไม้ของครอบครัวโชเฮ 

คุณนายทาคาฮาชิ คุณแม่ของโชเฮเริ่มกิจการร้านดอกไม้แห่งนี้ตั้งแต่ปี 1992 มาถึงปีนี้ร้านดอกไม้ ‘Flower Studio Parterre’ ก็อายุครบ 29 ปีแล้วค่ะ ตอนนี้โชเฮเป็นผู้สืบทอดกิจการ ส่วนโนโซมิเพื่อนรักของเราก็กลายเป็นสะใภ้ร้านดอกไม้อย่างเต็มตัว เปิดประตูเข้าไปในร้านก็เจอกับดอกไม้สดนานาพันธุ์ รวมถึง Herbarium ดอกไม้ในขวดน้ำมันซึ่งเป็นสินค้าใหม่จากไอเดียของเพื่อนเรานี่เอง ภูมิใจแทนสุดๆ อีกมุมหนึ่งของร้านมีแจกันใบใหญ่จัดดอกไม้หลากสีไว้อย่างสวยงาม พอเดินไปดูโนโซมิก็กระซิบบอกว่าเป็นดอกไม้สำหรับงานแต่งของเธอในวันพรุ่งนี้เองแหละ

หลังเยี่ยมเยียนร้านดอกไม้แล้ว ก็ถึงเวลาไปเช็คอินที่โรงแรม คืนนี้ทั้งเรา แจน และครอบครัวของโนโซมิพักกันที่โรงแรม Hotel City Plaza Kitakami ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานแต่งงาน จากหน้าต่างห้องพักเป็นวิวแม่น้ำคิตะตามิแบบ 180 องศา แม่น้ำฝั่งตรงข้ามเป็นทิวต้นซากุระที่ตอนนี้ยังเป็นสีเขียวๆ กันอยู่ ถ้ามาเดือนเมษายนช่วงซากุระบานจะต้องสวยมากแน่ๆ 

Hotel for the Wedding

สำหรับมื้อเย็น เป็นธรรมเนียมว่าครอบครัวเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะไปทานข้าวนั่งคุยกัน เรา แจน และพี่บิ๊ก (คุณ Bearcat.K อีกหนึ่งนักเขียนของเว็บนี้) ซึ่งรับหน้าที่เป็นช่างภาพงานแต่ง ก็เลยขอแยกมาทานข้าวที่ร้านอาหารอิตาเลียนไม่ไกลจากโรงแรมที่พัก ชื่อว่าร้าน Mountee 

ขอบันทึกเตือนใจไว้ตรงนี้ว่า เมนูภาษาญี่ปุ่นว่ายากแล้ว เมนูภาษาญี่ปุ่นสำหรับอาหารอิตาเลียนคือยากกว่า (กรี๊ด!) อ่านตัวอักษรคาตาคานะกันจนตาลาย แต่ถึงจะอ่านออกก็ไม่รู้อยู่ดีว่ามันคืออะไร สรุปว่าลองสั่งมั่วๆ มาสามอย่างเป็นพิซซ่า สปาเก็ตตี้ และสลัดผักอีกจาน รอดกันไปอีกหนึ่งมื้อ จัดการมื้อเย็นเสร็จเราก็เดินกลับโรงแรม นั่งซ้อมร้องเพลงอีกสองรอบเตรียมตัวสำหรับวันพรุ่งนี้

และแล้วก็ถึงวันงานค่ะ 

ติดตามต่อได้ใน  เมื่อฉันไปเป็นเพื่อนเจ้าสาวที่อิวาเตะ EP 2 !


Reference: