คาเฟ่ลูส เมนูที่รักจากการเดินทาง

Book Review: ไขความลับเรื่องราวรอบตัวผ่านเมนูขนมหวานจากทั่วทุกมุมโลก หนังสืออ่านสบายที่คนชอบคาเฟ่และการเดินทางจะต้องตกหลุมรัก

อีกไม่กี่วันก็จะหมดปี 2021 ซะแล้ว แต่ก่อนจะขึ้นปีใหม่ เรามีนิยายแปลเล่มโปรดมาแนะนำอีกเล่มค่ะ

คาเฟ่ลูส เมนูที่รักจากการเดินทาง … หรือที่เราเรียกสั้นๆ ว่า ‘คาเฟ่ลูส’ เป็นหนังสือที่เราซื้อมาตั้งแต่ต้นปี แล้วก็หยิบมาอ่านบ่อยมากตลอดทั้งปี 2021 เคยมีคนบอกว่าการอ่านหนังสือก็เหมือนได้ออกเดินทางไปอีกโลกหนึ่ง และการอ่านคาเฟ่ลูสก็ให้ความรู้สึกเหมือนได้ท่องเที่ยวไปยังประเทศต่างๆ ผ่านเมนูขนมหวานและอาหารจากทั่วทุกมุมโลกเช่นเดียวกันค่ะ เรียกได้ว่าเป็นหนังสือที่เข้ามาในชีวิตได้ถูกเวลาราวกับรู้ใจว่ามีคนกำลังเฉากับการนอนอยู่บ้านเฉยๆ นี่แหละ

แอบกระซิบว่าคนที่รักการเดินทาง ชอบนั่งคาเฟ่ และชอบอ่านเรื่องราวเบื้องหลังขนมหวานแต่ละอย่างจะต้องรักเรื่องนี้มากแน่นอน บอกเลยว่าโดนเราป้ายยากันไปหลายคนแล้ว ทั้งคุณแม่ เพื่อนคนไทย เพื่อนคนญี่ปุ่น ฯลฯ เกริ่นมาขนาดนี้แล้วไปอ่านรีวิวคาเฟ่ลูส (แบบไม่มีสปอย!) ต่อกันเลย

เล่าเรื่องย่อ

นาระ เอโกะ เป็นพนักงานออฟฟิศวัยสามสิบเจ็ด โสด อาศัยอยู่ในอพาร์ตเม้นท์คนเดียว และมีสิ่งที่โปรดปรานที่สุดเป็นการนอนเอกเขนกบนโซฟาที่บ้าน บ่ายวันหยุดวันหนึ่งที่อากาศแจ่มใส เอโกะปั่นจักรยานผ่านคาเฟ่แห่งหนึ่งโดยบังเอิญและตัดสินใจลองแวะเข้าไปดู เรื่องราวทั้งหมดเริ่มขึ้นจากตรงนั้นเอง

คาเฟ่แห่งนี้ชื่อว่าคาเฟ่ลูส คาเฟ่ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการเดินทางท่องเที่ยว โดยมาโดกะ–เจ้าของร้านออกเดินทางเป็นประจำและนำเมนูอาหารหรือขนมที่เธอพบเจอจากประเทศต่างๆ กลับมาเสิร์ฟที่ร้าน อย่างชีสเค้กซึ่งเป็นเมนูโปรดของหลายๆ คน ถ้าเป็นที่อื่นอาจมีนิวยอร์กชีสเค้ก แต่ที่คาเฟ่ลูสกลับมีซุปฟ์คูเฮน (Zupfkuchen) ชีสเค้กแบบรัสเซียซึ่งความจริงแล้วไม่ได้มาจากรัสเซีย หรือถ้าเป็นเครื่องดื่มก็จะมีเมนูชื่อแปลกอย่างอัลม์ดูเลอร์ (Almdudler) เครื่องดื่มผสมโซดาและสมุนไพรจากออสเตรีย

เอโกะลองดื่มอัลม์ดูเลอร์ก่อนจะหันมาพูดกับมาโดกะ

“รู้สึกอย่างกับกำลังเดินทางท่องเที่ยวแน่ะ” เจ้าของร้านฟังแล้วก็หัวเราะคิก

“นั่นคือคอนเซ็ปต์ของร้านเราเลยค่ะ คาเฟ่ที่จะทำให้คุณรู้สึกเหมือนกำลังเดินทางท่องเที่ยว”

หลังจากวันนั้น คาเฟ่ลูสก็กลายเป็นร้านประจำของเอโกะไปโดยปริยาย และการได้มานั่งกินขนมที่คาเฟ่ลูสก็ได้ช่วยเอโกะไขความลับของเหตุการณ์รอบตัวได้อย่างน่าแปลกใจ ทั้งเรื่องราวของเพื่อน ของคนที่ทำงาน รวมถึงเรื่องของมาโดกะเองด้วย

สิ่งหนึ่งที่เราชอบมากๆ ในหนังสือเล่มนี้ นอกจากสำนวนการเล่าเรื่องที่อ่านสบายแล้ว ก็คือเหล่าขนมหวานและอาหารนานาชาติที่ปรากฏตัวในแต่ละตอน บางเมนูเราอาจจะเคยได้ยินมาบ้างแต่ไม่เคยรู้เรื่องราวเบื้องหลัง พออ่านคาเฟ่ลูสเราเลยได้เกร็ดความรู้เกี่ยวกับขนมหวานทั่วโลกจากมาโดกะไปด้วย อย่างเช่น ขนมชิ้นนี้นิยมกินกันแถบไหน ต้องกินคู่กับอะไรถึงจะอร่อย อ่านไปก็แอบลุ้นว่าคาเฟ่ลูสจะมีเมนูจากไทยบ้างหรือเปล่านะ (กระซิบเบาๆ ว่ามีค่ะ ฮี่ฮี่) 

ที่สำคัญคือหนังสือสามารถโยงเรื่องราวเบื้องหลังขนมหวานแต่ละชิ้นให้เข้ากับเหตุการณ์รอบตัวเอโกะในแต่ละตอนได้อย่างไม่น่าเชื่อ พอเห็นชื่อขนมของแต่ละตอนปุ๊บ ก็จะชวนให้คนอ่านอย่างเราสงสัยขึ้นมาทันทีว่าเหตุการณ์ในตอนมันจะเกี่ยวกับขนมชิ้นนี้ยังไงกันหนอ เป็นนิยายสไตล์ cozy mystery แบบฟีลกู๊ดแบบที่หยิบมาอ่านได้บ่อยๆ

นอกจากนี้ คาเฟ่ลูสนั้นเล่าเรื่องผ่านมุมมองของเอโกะตลอดทั้งสิบตอน เราเลยได้เห็นภาพการใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นของสาวโสดวัย 37 ที่ไม่ได้มีงานอดิเรกอะไรเป็นพิเศษ ทั้งชีวิตประจำวันในที่ทำงาน การใช้เวลาคนเดียวในวันหยุดที่คาเฟ่ในละแวกบ้าน หรือความสัมพันธ์กับเพื่อนสนิทที่ก็ห่างหายกันไปบ้างหลังจากที่เพื่อนแต่งงานมีครอบครัวไป อ่านแล้วก็แอบคิดว่าตัวเราในวัยใกล้สี่สิบก็คงจะใช้ชีวิตคล้ายๆ กับเอโกะนี่แหละมั้ง

มีอยู่ตอนหนึ่งในเรื่อง มาโดกะพูดกับเอโกะว่าที่เธอชอบการเดินทางนั้นก็เพราะมันทำให้เธอรู้ว่าโลกของเรานั้นแสนกว้างใหญ่

“การเดินทางทำให้ฉันตระหนักว่ายังมีเรื่องที่ตัวเองไม่รู้อีกมากมายนัก และทำให้เข้าใจว่าสิ่งที่ตัวเองเคยเชื่อมาตลอดว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดานั้นบางครั้งก็ไม่ได้เหมือนกันทั่วโลก”

สำหรับเอโกะที่ไม่ค่อยได้ไปเที่ยวที่ไหน การได้มาคาเฟ่ลูสนั้นทำให้รู้สึกเหมือนได้ออกเดินทางแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ

สำหรับเราที่เป็นคนชอบเดินทาง ในยุคที่เดินทางไปไหนไม่สะดวกเท่าไหร่ พอได้อ่านคาเฟ่ลูสก็เหมือนได้ออกไปเที่ยวตามขนมของมาโดกะเช่นกัน (เรียกได้ว่าเหมือนไปเที่ยวทิพย์ผ่านตัวหนังสือ)

จะว่าไป ถ้าคาเฟ่ลูสมีตัวตนจริงๆ เราคงกลายเป็นลูกค้าประจำของร้านแข่งกับเอโกะแน่ๆ เลยล่ะค่ะ =)

อ้อ และถ้าใครแอบสงสัยเหมือนเราว่าทำไมมาโดกะดูใจดีกับเอโกะจังเลย อ่านถึงตอนสุดท้ายแล้วจะรู้ค่ะ เหนือความคาดหมายที่สุด อ่านแล้วต้องแอบร้องว้ายในใจ (ครุคริ)


แนะนำตัวขนมจากคาเฟ่ลูส

พออ่านเจอขนมหวานนานาชาติในคาเฟ่ลูสทีไร เราก็อยากออกไปเที่ยวต่างประเทศทุกที ไหนๆ ช่วงนี้ก็ยังอยู่ในช่วงเที่ยวทิพย์ เราเลยขอเอารูปขนมหวาน 3 ชาติที่ปรากฏตัวในหนังสือมาฝากค่ะ

ซุปฟ์คูเฮน (Zupfkuchen) ชีสเค้กแบบรัสเซีย ตัวชีสเค้กมีช็อกโกแลตเป็นส่วนผสม และมีแป้งเค้กช็อกโกแลตบิโรยด้านบนก่อนอบ เอโกะบรรยายว่าเป็นเค้กที่หน้าตาเหมือนแมวสองสี ตอนแรกทั้งเราและเอโกะเข้าใจว่าซุปฟ์คูเฮนเป็นขนมของประเทศรัสเซีย แต่มาโดกะบอกว่าความจริงมีต้นกำเนิดที่เยอรมนีต่างหาก นิยมทานกันมากแถบกรุงเบอร์ลิน ส่วนคำว่า ‘แบบรัสเซีย’ นั้นเป็นส่วนหนึ่งของชื่อเค้ก จะว่าไปก็แอบคล้ายๆ กับข้าวผัดอเมริกันของไทย ที่ความจริงไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับสหรัฐฯ ซักนิด หรืออย่างลอดช่องสิงคโปร์ก็ได้ชื่อนี้มาเพราะขายอยู่ด้านหน้าโรงหนังสิงคโปร์ (ที่กรุงเทพฯ)

โดโบชทอร์ทา (Dobos torta) ขนมหวานของประเทศฮังการี เป็นเค้กหน้าตาสวยงาม แต่ละชั้นสอดไส้บัตเตอร์ครีมและครีมช็อกโกแลต ผิวด้านบนสีน้ำตาลทำจากคาราเมล เนื้อเค้กอบจนค่อนข้างแข็งทำให้เก็บไว้ได้นานแม้จะไม่ได้แช่เย็น ขนมชิ้นนี้ปรากฏตัวในตอน “หัวใจหลายชั้น” ที่เพื่อนสนิทของเอโกะมาปรึกษาเรื่องสามี ว่าแต่เรื่องนี้เกี่ยวอะไรกับโดโบชทอร์ทากันนะ?

ซาคฮาทอร์เทอ (Sachertorte) ขนมเค้กช็อกโกแลตรสชาติเข้มข้น ขนมขึ้นชื่อของกรุงเวียนนาซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศออสเตรีย ในเล่มมาโดกะบอกว่าเป็นเค้กที่มีกรรมวิธีทำค่อนข้างยุ่งยาก เหมาะทานคู่กับกาแฟรสเข้ม และที่ออสเตรียจะทานคู่กับวิปครีม เมนูนี้เราจำได้ว่าเคยทานตอนไปเที่ยวเวียนนาเลยลองค้นรูปดู ปรากฏว่าที่ออสเตรียก็เสิร์ฟซาคฮาทอร์เทอคู่กับวิปครีมกองโตตามที่มาโดกะบอกจริงๆ ด้วย 

Sachertorte

แค่เห็นรูปก็หิวของหวานขึ้นมาทันที ใครรู้ว่าที่ไทยมีร้านไหนทำขนมเหมือนในคาเฟ่ลูสขายก็กระซิบบอกกันมาได้นะคะ


มุมกระจุกกระจิก

เรื่องคาเฟ่ลูสต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นมีชื่อว่า ときどき旅に出るカフェ(Tokidoki Tabi ni Deru Cafe) ลงเป็นตอนๆ ในนิตยสารรายเดือนชื่อ 小説推理 (Shousetsu Suiri) ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-พฤศจิกายนปี 2016 ก่อนจะรวมเล่มตีพิพม์เป็นฉบับนิยายในปีถัดมา สำหรับตอนที่ลงนิตยสารมีภาพประกอบด้วยนะคะ วาดโดยคุณ mina leask illustration ซึ่งเธอรวมผลงานภาพประกอบเรื่องคาเฟ่ลูสทั้ง 10 ตอนไว้ที่ 1 2 และ 3

พออ่านจบเล่ม คาเฟ่ลูสก็ขึ้นแท่นเป็นหนังสือเล่มโปรดประจำปี 2021 พร้อมๆ กับที่เรากลายเป็นแฟนหนังสือของคุณฟูมิเอะ คนโดไปโดยปริยาย เธอเป็นนักเขียนที่มีงานหลากหลายแนว สำหรับเล่มที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยนอกจากคาเฟ่ลูสแล้วก็มี ‘ในครึ่งที่ยังว่างของกระเป๋าเดินทางสีฟ้า’ และ ‘ทาร์ตตาแต็งแห่งความฝัน’ ซึ่งเราก็ชอบมากๆ และตั้งใจว่าจะมาเขียนถึงเช่นกัน รอติดตามนะคะ 🙂

Book Information

คาเฟ่ลูส เมนูที่รักจากการเดินทาง (ときどき旅に出るカフェ Tokidoki Tabi ni Deru Cafe)

ผู้เขียน: ฟูมิเอะ คนโด

ผู้แปล: กนกวรรณ เกตุชัยมาศ

สำนักพิมพ์: Sunday Afternoon

ราคา: 285 บาท

อ่านตัวอย่างหนังสือได้ที่: typhoonbooks.com


Book Review Collection

ปาฏิหาริย์แมวลายส้มผู้พิทักษ์หนังสือ