เอโดะงาวะ รัมโป…นักเขียนผู้เป็นตำนานของวงการนวนิยายสืบสวนญี่ปุ่น

แฟนๆ นวนิยายลึกลับสืบสวนหลายคนน่าจะคุ้นชื่อ “เอโดะงาวะ รัมโป” นักเขียนผู้เป็นตำนานและเป็นผู้บุกเบิกวงการนวนิยายสืบสวนญี่ปุ่น ผลงานของเขายังได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งมีอิทธิพลต่อนักเขียนเรื่องลึกลับสืบสวนหน้าใหม่หลายๆ คนอีกด้วย

สำหรับคนที่เคยอ่านมังงะ (หนังสือการ์ตูน) หรือดูอนิเมะเรื่อง “ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน” (Detective Conan / 名探偵コナン) อาจจะคุ้นชื่อ “เอโดะงาวะ” กันมาบ้าง เพราะในมังงะยอดนักสืบจิ๋วโคนันเล่มแรกนับสืบ ม.ปลาย คุโด้ ชินอิจิ ในร่างเด็กที่กำลังตกใจเมื่อถูกถามชื่อ ดันหันไปเห็นหนังสือของเอโดะงาวะ รัมโป เลยเอาชื่อ “เอโดะงาวะ” มาใช้เป็นนามสกุลตัวเองเสียเลย

นักสืบจิ๋วโคนันที่ขอยืมชื่อ “เอโดะงาวะ” มาใช้

แต่สำหรับแฟนๆ นวนิยายสืบสวนญี่ปุ่น ชื่อ “เอโดะงาวะ รัมโป” (江戸川 乱歩) เป็นเหมือนเครื่องหมายการค้าการันตีความลี้ลับ แหวกแนว การไขปริศนาที่ชวนติดตาม และการสร้างตัวละครที่เป็นเอกลักษณ์ จนได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีอิทธิพลต่อวงการนวนิยายสืบสวนญี่ปุ่นคนหนึ่งเลยทีเดียว

ชายผู้สร้างกระแสนวนิยายลึกลับสืบสวนในญี่ปุ่น

ชื่อจริงของ เอโดะงาวะ รัมโป คือ ฮิราอิ ทาโร่ (平井 太郎) เกิดเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ปีเมจิที่ 27 (ค.ศ. 1894) ที่จังหวัดมิเอะ ในช่วงที่เด็กชายทาโร่เป็นเด็ก เป็นยุคที่ชาวญี่ปุ่นทั่วไปสามารถเข้าถึงวรรณกรรมได้ง่าย มีการนำวรรณกรรมและนวนิยายจากประเทศตะวันตกมาตีพิมพ์ในญี่ปุ่นอย่างแพร่หลาย

ฮิราอิ ทาโร่ หรือ เอโดะงาวะ รัมโป ในวัยเด็ก

ในบรรดานักเขียนที่ได้รับการนำผลงานมาแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นในตอนนั้นคือนักเขียนชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียง เอ็ดการ์ อัลแลน โป (Edgar Allen Poe) เจ้าของผลงานเรื่องสั้นแนวลึกลับสืบสวนอันโด่งดังเรื่อง The Murders in the Rue Morgue (คดีฆาตกรรมที่ถนนมอร์ก) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นงานเขียนแนวรหัสคดีสมัยใหม่เรื่องแรกของโลก

นายทาโร่ซึ่งขณะนั้นเป็นนักศึกษาคณะการเมืองและเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยวาเซดะ มีความชื่นชอบในงานเขียนของ เอ็ดการ์ อัลแลน โป มากจนนำชื่อของนักเขียนคนนี้มาดัดแปลงจนเป็นนามปากกา “เอโดะงาวะ รัมโป” นั่นเอง

เรื่องสั้น The Murders in the Rue Morgue (คดีฆาตกรรมที่ถนนมอร์ก)

หลังจากเรียนจบระดับมหาวิทยาลัย เอโดะงาวะ รัมโป ได้ผ่านการทำงานด้านต่างๆ มามากมาย ตั้งแต่งานกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เขียนการ์ตูนสั้นลงในนิตยสาร เป็นพนักงานในร้านหนังสือมือสอง เป็นพนักงานออฟฟิศในบริษัทนำเข้าส่งออกสินค้า จนถึงลูกจ้างในร้านโซบะ ในช่วงเวลานั้นเองเขามีโอกาสได้ทดลองเขียนเรื่องสั้นและนวนิยายของตัวเองเพื่อส่งต้นฉบับให้กับสำนักพิมพ์ต่างๆ

“เหรียญทองแดงสองเซ็น”

ผลงานชิ้นแรกที่เปิดตัวรัมโปในฐานะนักเขียน

หลังจากฝึกฝนการเขียนมาพักใหญ่ ในปี ค.ศ.1923 ผลงานเรื่องสั้น “เหรียญทองแดงสองเซ็น” หรือ “นิเซ็นโดกะ” (二銭銅貨) ของนายทาโร่ได้ถูกตีพิมพ์ลงในนิตยสารชินเซเน็น ซึ่งเป็นนิตยสารที่รวบรวมนวนิยายสืบสวนมาตีพิมพ์รวมกัน แม้ในขณะนั้นงานเขียนแนวสืบสวนส่วนใหญ่จะเป็นงานแปลจากต่างประเทศ แต่ผลงานเหรียญทองแดงสองเซ็นของนายทาโร่ มีเนื้อหาชวนให้ติดตาม มีการใส่เรื่องรหัสลับที่ผู้อ่านสามารถร่วมไขปริศนาไปพร้อมๆ กับตัวละครในเรื่อง ทำให้ผลงานชิ้นนี้ได้รับเสียงตอบรับอย่างดีจากผู้อ่าน จนทำให้ชายผู้นี้ได้แจ้งเกิดในฐานะนักเขียนนวนิยายลึกลับสืบสวนของญี่ปุ่น ภายใต้นามปากกา “เอโดะงาวะ รัมโป”

ในอีกไม่กี่ปีต่อมา รัมโปได้ออกผลงานเรื่องสั้นที่เปิดตัวนักสืบผู้เป็นที่กล่าวขวัญกันในหมู่นักอ่านอย่าง “อาเคจิ โคโกะโร” (明智 小五郎) ในผลงาน “ฆาตกรรมบนเนิน D” หรือ “ดี ซากะ โนะ สัตสึจิน จิเค็น” (D坂の殺人事件) ซึ่งต่อมานักสืบผู้นี้ได้ปรากฏตัวในเรื่องสั้นและนวนิยายของรัมโปอีกหลายเรื่อง เช่น นักเดินเล่นใต้หลังคา (屋根裏の散歩者) แก๊งมือดำ (黒手組) ปริศนาชายแคระ (一寸法師) เป็นต้น

ผลงานของ โอโดะงาวะ รัมโป บางส่วนที่แปลเป็นภาษาไทย

นักเขียนที่เป็นตำนานของวงการอาชญนิยายญี่ปุ่น

แม้ว่าเอโดะงาวะ รัมโป จะเสียชีวิตไปแล้วในปี 1965 ด้วยวัย 70 ปี แต่ผลงานของเขาก็ยังเป็นที่กล่าวขวัญและถูกนำมาแปลเป็นภาษาต่างประเทศมากมาย อีกทั้งมีการนำผลงานบางเรื่องมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์และซีรีส์ที่โด่งดังในปัจจุบัน หรือแม้แต่ชื่อของเขาก็ถูกนำมาใช้ในสื่อป๊อบคัลเจอร์ (pop culture) ของญี่ปุ่น อย่างตัวละครในมังงะและอนิเมะเรื่องดังอย่าง Bungo Stray Dogs (文豪ストレイドッグス) ก็มีตัวละครชื่อเอโดะงาวะ รัมโป ที่มีลุคการแต่งตัวคล้ายนักสืบอีกด้วย

ด้วยอิทธิพลจากงานเขียนของรัมโป ทำให้มีการปลุกกระแสความนิยมนวนิยายแนวลึกลับสืบสวนที่ประเทศญี่ปุ่น โดยในปี 1954 สมาคมนักเขียนอาชญนิยายของญี่ปุ่น (日本推理作家協会) ได้มีการตั้ง “รางวัลเอโดะงาวะ รัมโป” (江戸川乱歩賞) เมื่อมอบให้กับนวนิยายสืบสวนเรื่องยาวซึ่งเขียนโดยนักเขียนหน้าใหม่ โดยมีการประกาศรางวัลทุกๆปี ในปัจจุบันผู้ชนะรางวัลนี้จะได้รับการตีพิมพ์ผลงานโดยสำนักพิมพ์โคดันฉะ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการอีกด้วย

นอกจากนี้ นักเขียนนวนิยายสืบสวนที่โด่งดังของญี่ปุ่นหลายคน ก็เรียกได้ว่าแจ้งเกิดจากเวทีนี้ อย่างคุณฮิงาชิโนะ เคโงะ (東野 圭吾) ซึ่งเป็นนักเขียนที่แฟนๆ นวนิยายสืบสวนชาวไทยน่าจะรู้จักกันดี ก็เป็นผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศในปี 1985 ด้วยผลงาน After School (放課後) ที่ได้รับการแปลเป็นเวอร์ชั่นภาษาไทยเช่นกัน

มาถึงตรงนี้ ก็พูดได้เต็มปากว่า เอโดะงาวะ รัมโป เป็นชายผู้บุกเบิกวงนวนิยายสืบสวนญี่ปุ่นอย่างแท้จริง ผู้เขียนในฐานะที่เป็นแฟนตัวยงของนักเขียนผู้นี้ จึงอยากเชิญชวนให้ผู้อ่านที่สนใจนวนิยายแนวลึกลับสืบสวน ลองหาผลงานของเอโดะงาวะ รัมโป มาอ่านดูสักเล่มสองเล่ม ไม่แน่ว่าอาจจะค้นพบเรื่องสั้นหรือนวนิยายเรื่องโปรดเพิ่มขึ้นอีกเรื่องหนึ่งก็เป็นได้

สามารถทักทายพูดคุยกับ MIZUNOHANA ได้ที่เพจ

“รีวิวอะไรก็ได้ ตามใจฉัน by Mizunohana”