ในฐานะสะใภ้ร้านดอกไม้แห่งจังหวัดอิวาเตะ วันนี้จึงอยากนำเสนอเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับช่อดอกไม้แห่งชัยชนะ ที่หลายๆท่านคงจะเห็นผ่านตามาบ้างแล้ว ในพิธีมอบเหรียญรางวัลโอลิมปิกและพาราลิมปิก 2020
อย่างที่ทราบกันดีว่าเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 2011 เกิดแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งในห้าแผ่นดินไหวที่รุนแรงของโลกด้วย โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง คือ 3 จังหวัด แนวชายฝั่งแปซิฟิก ซึ่งอยู่ในภูมิภาคโทโฮขุ ได้แก่ จังหวัดฟุคุชิมะ (Fukushima) จังหวัดมิยะงิ (Miyagi) และ จังหวัด จังหวัดอิวะเตะ (Iwate) ผลทั้งจากแรงสะเทือนแผ่นดินไหวขนาด 9.0 แมกนิจูด และคลื่นสึนามิยักษ์ใหญ่ ทำให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 20,000 คน รวมทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก จนเป็นที่หวาดวิตกของชาวโลกในช่วงนั้น ในขณะเดียวกันผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกก็พร้อมที่จะส่งกำลังใจมายังผู้ประสบภัยในครั้งนี้ และหลังจากที่ประเทศญี่ปุ่นเริ่มวางแผนสำหรับการเป็นเจ้าภาพงานโอลิมปิกและพาราลิมปิก2020ซึ่งเป็นอีเว้นท์กีฬาระดับโลกจึงอยากใช้โอกาสนี้เป็นพื้นที่ในการขอบคุณชาวโลกที่คอยช่วยเหลือในยามทุกข์ยาก จากเหตุการณ์วันนั้นผ่านมา10ปีแล้ว ผู้ประสบภัยหลายๆคนเริ่มกลับมาดีขึ้นเรื่อยๆแล้ว
ว่ากันว่าการมอบช่อดอกไม้ให้กับผู้ชนะในการแข่งขันโอลิมปิก เริ่มขึ้นครั้งแรกในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ลอสแองเจลิส ปี ค.ศ. 1984 เรื่อยมา จนกระทั่งโอลิมปิกฤดูหนาว ที่เมืองโซชี ประเทศรัสเซียในปี ค.ศ. 2014 คุณอิโซะมูระ ประธานแห่งสภาดอกไม้แห่งประเทศญี่ปุ่น (Nippon Flower Council) NFC จึงเสนอไอเดียในการกลับมามอบช่อดอกไม้ให้กับนักกีฬาผู้ชนะการแข่งขันอีกครั้ง เพื่อเป็นการขอบคุณสำหรับการสร้างความประทับใจตลอดการแข่งขัน
ช่อดอกไม้แห่งชัยชนะนี้จะเป็นการใช้ดอกไม้คุณภาพดีของประเทศญี่ปุ่น ที่ปลูกใน 3จังหวัดที่ได้รับประสบภัยครั้งใหญ่ที่กล่าวข้างต้น เพื่อเป็นการขอบคุณผู้คนทั่วโลกว่าค่อยๆฟื้นตัวแล้วนะ อีกทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ให้กับผู้ประสบภัยที่ครั้งหนึ่งเคยท้อแท้ สิ้นหวังว่าดอกไม้ที่ปลูกในจังหวัดของพวกเขาได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแข่งขันระดับโลก โดยวางคอนเซ็ปท์ในการใช้สีสันสดใสและรูปแบบช่อทรงกลมที่สามารถมองได้สวยจากทุกมุม
สำหรับช่อดอกไม้แห่งชัยชนะในงานโอลิมปิกและพาราลิมปิก ณ กรุงโตเกียว ปี ค.ศ. 2020 นี้ จะถูกจัดทั้งหมดประมาณ 5,000 ช่อ ซึ่งเท่ากับจำนวนเหรียญรางวัล โดยผู้จัดดอกไม้คือสภาดอกไม้แห่งประเทศญี่ปุ่น(NFC) ที่เสนอไอเดียในครั้งนี้ นอกจากนี้ผู้จัดอยากให้มีของที่ระลึกให้ผู้ชนะนำกลับไปถ่ายรูปกับครอบครัว เพื่อนฝูงได้ จึงเกิดเป็นไอเดียการมอบช่อดอกไม้แห่งชัยชนะพร้อมแนบตุ๊กตามาสคอตของงานขึ้นมา โดยเป็นการสั่งทำสีพิเศษ ตามสีของเหรียญรางวัล ได้แก่ สีทอง สีเงิน และสีทองแดง
ทั้งนี้มาสคอตทั้งสองตัวมีลักษณะเป็นสุนัขจิ้งจอก ซึ่งมาสคอตประจำงานโอลิมปิกเป็นสุนัขจิ้งจอกลายตารางสีขาวและน้ำเงิน ชื่อ มิไรโตะวะ (MIRAITOWA) มาจากการผนวกคำว่า มิไร 未来(อนาคต) และ เอเอ็น 永遠(นิจนิรันดร์) โดยแฝงความหมายไว้ว่า “ขอให้อนาคตสดใสคงอยู่ชั่วนิจนิรันดร์” นอกจากนี้ยังมีพลังพิเศษเคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็วและมีความยุติธรรมต่อนักกีฬาทุกคน สำหรับมาสคอตประจำงานพาราลิมปิก เป็นมาสคอตสีชมพู ชื่อโซเมตี้ (SOMEITY) มีที่มาของชื่อจากคำว่า so mighty ที่แปลว่า “แข็งแกร่งกว่าที่คิด” ในภาษาอังกฤษ โดยหนวดรูปกลีบดอกซากุระได้รับแรงบันดาลใจจากดอกซากุระซึ่งมีพลังพิเศษโดยใช้พลังจิตเคลื่อนย้ายสิ่งของและความผูกของคนญี่ปุ่นที่มีให้กับดอกซากุระนั่นเอง
ช่อดอกไม้แห่งชัยชนะโอลิมปิก (Olympic victory bouquet)
เริ่มจากช่อดอกไม้ในงานโอลิมปิกผู้ออกแบบคือJapan Florists’ Telecommunication Delivery Association (JFTD) สมาคมเครือข่ายการส่งดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเคยเป็นผู้นำในโปรเจ็คช่อดอกไม้แห่งชัยชนะในโอลิมปิกฤดุหนาว จังหวัดนางะโน่ ในปีค.ศ.1998 เป็นช่อที่ให้ดอกทานตะวันซึ่งปลูกที่จังหวัดมิยะงิเป็นดอกหลัก โดยมีดอกไลเซนทัสกับดอกกระดิ่งลมเป็นดอกรอง มีใบต้นเง็กเต็กล้อมรอบ สำหรับใบต้นบัวดอยนั้นห่อหุ้มส่วนของด้ามจับ ทั้งนี้จัดให้เป็นรูปแบบทรงกลมโดยภายในช่อมีการกระจายดอกไม้ เพื่อให้ผู้ชมที่มองมายังนักกีฬาสามารถชมช่อดอกไม้ได้อย่างสวยงามจากมุมต่างๆ
การใช้ดอกทานตะวันเป็นดอกหลักนั้น มีความหมายแฝงถึงความสดใส「元気」อีกทั้งยังถือเป็นตัวแทนดอกไม้แห่งฤดูร้อนญี่ปุ่น ทั้งนี้เลือกใช้ดอกทานตะวันสายพันธุ์ที่ถูกคิดค้นโดยชาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ตัดต่อทางพันธุกรรมให้เกสรดอกไม้ไม่ร่วง ภาพรวมนั้นพยายามเลือกดอกไม้ที่ค่อนข้างทนต่อสภาพอากาศฤดูร้อนได้ บริเวณด้านล่างขอช่อดอกไม้นั้นมีการสวมถุงพลาสติกที่ใส่เจลเฉพาะซึ่งสามารถอมน้ำและให้ช่อดอกไม้อยู่ได้นานอย่างน้อย3วันขึ้นไป เพื่อให้ชมความสวยงามของดอกไม้ได้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ บริเวณด้ามจับมีการติดมาสคอตของงานไว้ โดยนักกีฬาสามารถนำเฉพาะมาสคอตกลับเป็นที่ระลึกก็ได้ หากประเทศนั้นมีกฎห้ามนำดอกไม้และพืชพรรณเข้าประเทศ นอกจากนี้น้ำหนักรวมของช่อดอกไม้ยังถูกดีไซน์ให้มีน้ำหนักที่เบา โดยผู้ออกแบบได้คำนึงถึงการโยนช่อดอกไม้ไปยังผู้ชมที่นั่งอยู่ด้วย
ดอกไม้แห่งความหวังทั้ง 3 ชนิด
สำหรับดอกไม้ทั้ง 3 ชนิดที่ถูกเลือกใช้ในช่อแห่งชัยชนะนั้นล้วนมีความหมายทั้งสิ้น
ดอกทานตะวัน แห่งจังหวัดมิยะงิ ในจังหวัดมิยะงิ มีผู้ปกครองที่สูญเสียลูกเป็นจำนวนมาก จึงปลูกดอกทานตะวันบนเนินเขา เพื่อให้เป็นสัญลักษณ์สำหรับสถานที่หลบภัยในอนาคต หลังจากนั้นดอกทานตะวันบนเนินเขาก็บานทุกปี เรื่องนี้จึงถูกนำไปเป็นหนังสือนิทานอีกด้วย
ดอกไลเซนตัส แห่งจังหวัดฟุคุชิมะ เดิมทีจังหวัดฟุคุชิมะเป็นจังหวัดที่ขึ้นชื่อเรื่องการเกษตรโดยเฉพาะผักชนิดต่างๆ ซึ่งหลังเหตุการณ์โรงไฟฟ้าปรมาณูระเบิด ทางจังหวัดจึงจัดตั้งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร(NPO)ขึ้นมา และเริ่มปลูกดอกไม้ชนิดต่างๆโดยเฉพาะดอกไลเซนตัส เพื่อเป็นหนทางแห่งการฟื้นฟูการเกษตรที่ถูกทำลายไป
ดอกกระดิ่งลม แห่งจังหวัดอิวาเตะ ดอกกระดิ่งลมนี้ถือเป็นดอกไม้ตัวแทนประจำจังหวัด โดยสัดส่วนมากกว่าครึ่งของดอกกระดิ่งลมที่ถูกวางจำหน่ายตามร้านดอกไม้ทั่วประเทศญี่ปุ่นนั้นมาจากจังหวัดอิวาเตะทั้งสิ้น ทั้งนี้ดอกกระดิ่งลมมีหลากสีไม่ว่าจะเป็นสีคราม สีฟ้า สีขาว สีม่วงอ่อน หรือสีแดงเลือดหมู ครั้งนี้ดอกสีครามถูกเลือกใช้ด้วยเหตุผลที่มีสีที่ใกล้เคียงกับงานโอลิมปิก2020
ในฐานะที่เป็นสะใภ้ร้านดอกไม้แห่งอิวาเตะจึงอยากเพิ่มเติมถึงภาษาดอกไม้ของดอกกระดิ่งลมภาพรวม คือ ความรักที่มีให้คุณที่กำลังเศร้าโศกเสียใจ ความซื่อสัตย์และความมุ่งมั่น หากเป็นดอกสีครามสีเดียว หมายถึง ความเชื่อมันเต็มเปี่ยม ซึ่งมีความเป็นมาจากการที่คนชนชั้นสูงของญี่ปุ่นมักจะนำดอกนี้ติดตัวเสมอ จากความหมายดังกล่าวส่วนตัวคิดว่าเป็นดอกไม้ที่เหมาะมากๆสำหรับมอบให้กับผู้ชนะในการแข่งขัน
รายละเอียดช่อดอกไม้
ขนาด : กว้างประมาณ 17 cm สูงประมาณ 28 cm
ดอกไม้(จำนวนที่ใช้) :
ดอกทานตะวัน (ヒマワリ) จังหวัดมิยะงิ จำนวน 3 ก้าน ดอกไลเซนทัส (トルコギキョウ) จังหวัดฟุคุชิมะจำนวน 2 ก้าน
ดอกกระดิ่งลม (リンドウ) จังหวัดอิวาเตะ จำนวน 3 ก้าน
ใบต้นเง็กเต็ก (ナルコラン) จังหวัดฟุคุชิมะ:จำนวน 5 ก้าน
ใบต้นบัวดอย (ハラン) จังหวัดโตเกียว:จำนวน 3 ใบ
มาสคอตงาน : มิไรโตะวะ (MIRAITOWA)
ช่อดอกไม้แห่งชัยชนะพาราลิมปิก (Paralympic victory bouquet)
ต่อมาช่อดอกไม้แห่งชัยชนะงานพาราลิมปิกผู้ออกแบบคือ Nippon Flower Council (NFC) สภาดอกไม้แห่งประเทศญี่ปุ่นที่มีประสบการณ์ในการจัดช่อดอกไม้ตามการแข่งขันกีฬาใหญ่ๆสำหรับคนพิการหลายประเภททั่วประเทศญี่ปุ่น เป็นช่อที่จัดดอกกุหลาบไว้ตรงกลางเพื่อเป็นจุดรวมสายตา ซึ่งปลูกที่จังหวัดมิยะงิเป็นดอกหลัก ภายในช่อดอกไม้มีการแซมริบบิ้นสีชมพูเพื่อให้ดอกหลักนั้นโดดเด่นมากยิ่งขึ้น โดยมีดอกไลเซนทัสกับดอกกระดิ่งลมเป็นดอกรอง ใบต้นบัวดอยล้อมรอบและห่อหุ้มส่วนของด้ามจับ ซึ่งความยาวของด้ามจับจะถูกปรับเปลี่ยนขนาดให้มีความเหมาะสมกับประเภทกีฬาที่แข่งขันการใช้ดอกกุหลาบสีชมพูเข้มแทนดอกทานตะวันที่ถูกใช้ในช่อดอกไม้งานโอลิมปิกนั้น เพื่อให้สีของดอกไม้เข้ากับสีของมาสคอตSOMEITYนั่นเอง
ดอกไม้ตัวแทนนักกีฬาพาราลิมปิกและผู้สนับสนุน
สำหรับช่อแห่งชัยชนะช่อนี้ เป็นช่อที่มีคอนเซ็ปท์การจัดดอกไม้ภายใต้นักกีฬาพาราลิมปิกและผู้สนับสนุน การที่ใช้ดอกกุหลาบเพียงดอกเดียวในช่อดอกไม้นั้นเพื่อให้เป็นตัวแทนของนักกีฬา ส่วนดอกไลเซนตัสและดอกกระดิ่งลมที่ล้อมรอบเป็นตัวแทนของผู้คนที่คอยซัพพอร์ตนักกีฬาอยู่ข้างๆ รวมไปถึงผู้คนจากทั่วโลกที่ส่งกำลังใจมาให้ ทั้งนี้ดอกไลเซนตัสและดอกกระดิ่งลมยังถูกใช้โดยมีความหมายแฝงเช่นเดียวกับช่อดอกไม้ในงานโอลิมปิก ส่วนใบต้นบัวดอยซึ่งปลูกที่จังหวัดโตเกียว ที่ห่อก้านดอกไม้อยู่ตรงด้ามจับนั้นเป็นตัวแทนของผู้คนต่างๆที่ช่วยจัดเตรียมการแข่งขันในครั้งนี้
จากประสบการณ์ของสภาดอกไม้แห่งประเทศญี่ปุ่นที่เคยจัดช่อดอกไม้ จึงใช้ใบต้นบัวดอยทำหน้าที่ปกป้องไม่ให้ช่อดอกไม้เสียรูปทรง ถ้าหากนักกีฬาทำตกหล่นโดยมีการจัดให้เป็นลูปทรงกลมล้อมรอบช่อดอกไม้ และมีการติดมาสคอตอยู่ตรงบริเวณด้ามจับ อีกทั้งคำนึงถึงนักกีฬาที่ถือช่อดอกไม้จึงเลือกใช้อุปกรณ์ทุกอย่างที่มีความนิ่ม ใส่ใจในรายละเอียดทุกๆอย่างสมกับเป็นญี่ปุ่นจริงๆ
รายละเอียดช่อดอกไม้
ขนาด : กว้างประมาณ 17cm สูงประมาณ 30 cm (อาจมีการเปลี่ยนขนาดตามเหมาะสมของประเภทกีฬาที่แข่งขัน)
ประเภทดอกไม้ :
ดอกกุหลาบ (バラ) จังหวัดมิยะงิ จำนวน 1 ก้าน ดอกไลเซนทัส (トルコギキョウ) จังหวัดฟุคุชิมะจำนวน 3 ก้าน
ดอกกระดิ่งลม (リンドウ) จังหวัดอิวาเตะ จำนวน 2 ก้าน
ใบต้นบัวดอย (ハラン) จังหวัดโตเกียว:จำนวน 4 ใบ
มาสคอตงาน : โซเมตี้ (SOMEITY)
การได้เป็นส่วนหนึ่งในงานจัดดอกไม้วิ่งคบเพลิง
สุดท้ายนี้ขอเล่าถึงประสบการณ์ของร้านเรา ที่ได้ไปเป็นส่วนหนึ่งในการจัดดอกไม้ในงานวิ่งคบเพลิงผ่านจังหวัดอิวาเตะ เนื่องจากร้านFlower Studio Parterre (花工房パルテール) เป็นหนึ่งในสมาชิกของสภาดอกไม้แห่งประเทศญี่ปุ่น ประจำจังหวัดอิวาเตะ และได้รับการยอมรับด้านฝีมือในการจัดระดับหนึ่ง จึงถูกเชิญจากทางสภาให้ช่วยไปเป็นอาสาสมัครจัดดอกไม้ รอบๆเวทีที่เมืองชิซึคุอิชิ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการออกวิ่งของจังหวัดอิวาเตะ
มีร้านดอกไม้ที่ถูกรับเชิญทั้งหมด 7 ร้าน โดยให้ตัวแทนแต่ละร้านไปเพียง 1 คนเท่านั้นเพื่อความเท่าเทียมในการช่วยกันจัดดอกไม้ ร้านเราจึงส่งสามีของผู้เขียนซึ่งเป็นเจ้าของร้านดอกไม้ รุ่นที่ 2 ไปเป็นอาสาสมัครแห่งความภาคภูมิใจค่ะ สำหรับคอนเซ็ปท์ของดอกไม้ที่จัดนั้นเน้นสีสันสดใส สามารถทนแดดและทนฝนได้ดี เนื่องจากต้องไปจัดล่วงหน้า 1 วันก่อนการวิ่งคบเพลิง นั่นคือวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา ส่วนการวิ่งคบเพลิงที่จังหวัดอิวาเตะนั้นมีทั้งหมด 3 วัน คือ วันที่ 16 – 18 มิถุนายน ทั้งนี้ต้องจัดดอกกระดิ่งลมสีครามที่ถูกจัดในช่อแห่งชัยชนะ ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดอิวาเตะ ลงไปในดอกไม้ข้างเวทีด้วย