New Year’s in Kyoto: เล่าประสบการณ์ฉลองปีใหม่ครั้งแรกแบบชาวญี่ปุ่น ทั้งตามหาอาหารมงคล ตีระฆังปัดเป่าความชั่วร้าย คำนับศาลเจ้ารับปีใหม่ และดูแสงอาทิตย์แรกที่วัดบนยอดเขา
“เอาล่ะ วันนี้เราจะมาเรียนเรื่องธรรมเนียมปีใหม่ของญี่ปุ่นกัน” โอคาโมโตะเซ็นเซย์พูดพลางวางกองชีทเรียนลงบนโต๊ะ วันนี้เป็นวันพุธสุดท้ายก่อนเข้าสู่ช่วงปิดเทอมฤดูหนาวในเดือนธันวาคม และเป็นวันสุดท้ายของคลาสเรียนวิชา ‘เกียวโตบุงกะ’ หรือวิชาวัฒนธรรมเกียวโต ก่อนจะกลับมาเจอหน้ากันอีกครั้งหลังปีใหม่
พอล่วงเข้าปลายปี อากาศที่ญี่ปุ่นก็เย็นลงจนเราต้องห่อตัวในเสื้อโค้ตตัวหนา และวิ่งฝ่าลมหนาวเข้าหาอากาศอุ่น ๆ จากฮีตเตอร์ในห้องเรียน ถึงจะยังไม่มีพยากรณ์ว่าหิมะจะตกในเร็ววันนี้ แต่บรรยากาศรอบตัวก็ชวนให้รู้สึกถึงการเตรียมตัวเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ ทั้งจากท่าทางสบาย ๆ ของคณะอาจารย์ (เพราะตรวจข้อสอบเสร็จแล้ว) และรอยยิ้มของเพื่อน ๆ ที่กำลังวางแผนตะลอนเที่ยวช่วงวันหยุดยาว
ช่วงปลายปีจนถึงเริ่มปีใหม่นั้น คนญี่ปุ่นมีคำเรียกว่า 年末年始 (Nenmatsu-Nenshi) ซึ่งแปลตรงตัวได้ว่า สิ้นปี-เริ่มต้นปี และมีธรรมเนียมปฏิบัติที่ทำกันมาช้านาน ทั้งเรื่องอาหารการกินช่วงปีใหม่ การทำความสะอาดและตกแต่งบ้านด้วยของมงคล ไปจนถึงการไปวัดและศาลเจ้าตามความเชื่อ
ไหน ๆ ก็ได้อยู่ญี่ปุ่นช่วงปีใหม่ทั้งที ก็ต้องลองฉลองรับปีใหม่อย่างคนญี่ปุ่นดูสักครั้ง
ใครพร้อมแล้วก็ตามไปอ่านกันเลยค่ะ
เตรียมตัวก่อนถึงปีใหม่
ที่ต้องเตรียมตัว เพราะซุปเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งก็ปิดทำการในช่วงสิ้นปี จะซื้อของหรือวัตถุดิบทำอาหารอะไรก็ต้องไปซื้อมาตุนไว้ก่อน ไหนจะวางแผนไปเคารพศาลเจ้าช่วงวันปีใหม่อีก สรุปคร่าว ๆ แล้วก่อนวันสิ้นปีเราต้องเตรียมตัว 2 เรื่อง คือ
หนึ่ง ตามหา おせち料理 (Osechi) ข้าวกล่องอาหารมงคลสำหรับวันปีใหม่
การทาน Osechi ในวันขึ้นปีใหม่นั้นถือเป็นหนึ่งในธรรมเนียมของชาวญี่ปุ่นมายาวนาน เริ่มตั้งแต่ยุคนารา (ปี ค.ศ. 710-794) ซึ่งทางราชสำนักมีการจัดงานเฉลิมฉลองช่วงวันเปลี่ยนฤดูและมีการจัดอาหารชุดพิเศษ ต่อมาธรรมเนียมนี้ก็กระจายเป็นวงกว้าง และนิยมทำกันในช่วงวันปีใหม่มาจนถึงยุคปัจจุบัน
ถ้าให้พูดง่าย ๆ Osechi ก็คือเซ็ตอาหารมงคลชุดพิเศษนั่นเอง โดยอาหารแต่ละชนิดก็จะแฝงความหมายดี ๆ เอาไว้ด้วย เช่น กุ้งต้ม (車海老艶煮) สื่อถึงการมีอายุยืนยาวเพราะกุ้งตัวงอรูปร่างคล้ายผู้เฒ่า ไข่หวานม้วน (伊達巻き) อำนวยพรด้านการศึกษาเพราะรูปร่างเหมือนม้วนกระดาษบัณฑิต และไข่ปลานิชินหรือในภาษาญี่ปุ่นคือ คาซุโนะโกะ (数の子) สื่อถึงการมีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง เหมือนจำนวนไข่ปลานั่นเอง
ครอบครัวญี่ปุ่นบางบ้านที่มีสมาชิกเยอะหน่อย เหล่าคุณแม่ก็อาจจะลงมือทำอาหารมงคลเอง แต่ยุคนี้บรรดาห้างร้านต่าง ๆ ก็หัวใส เอาใจครอบครัวยุคใหม่ที่ไม่ค่อยมีเวลาโดยนำเสนอเซ็ต Osechi แบบสำเร็จรูปให้ซะเลย แพ็คใส่กล่องมาอย่างหรูหราสวยงาม พร้อมรับประทานกับครอบครัวในวันขึ้นปีใหม่ แต่มีข้อแม้คือต้องสั่งจองล่วงหน้าเท่านั้น
ช่วงปลายปีเราจึงเริ่มเห็นพวกใบปลิวและแคตตาล็อกชุดอาหารวันปีใหม่จากห้างร้านต่าง ๆ โดยมีราคาแตกต่างกันออกไปตามชนิดและปริมาณอาหาร อย่างของห้างสุดหรู Takashimaya ปีนี้เปิดให้สั่งจองได้ตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนถึงประมาณ 25 ธันวาคม (แล้วแต่สาขา) และไปรับของได้วันที่ 31 ธันวาคม สำหรับราคาก็มีตั้งแต่ 10,000 เยนต้น ๆ ไปจนถึง 200,000 กว่าเยนเลยค่ะ ใครสนใจลองกดดูได้ ที่นี่
บอกตามตรง ตอนแรกเราไม่ได้สนใจจะซื้อ Osechi มากินเลยซักนิด เพราะเห็นราคาแล้วแทบจะเป็นลม แถมส่วนใหญ่ก็จะเป็นเซ็ตใหญ่แบบจัดเต็ม กินคนเดียวจะไปหมดได้ยังไง จนวันที่ 30 ธันวาไปเดินซุปเปอร์แถวบ้านถึงเห็นว่า อ้าวววว มี Osechi วางขายในราคาย่อมเยาซะด้วย ขนาดก็พอเหมาะตอบโจทย์มนุษย์ผู้ฉลองปีใหม่คนเดียว เราเลยได้มาหนึ่งกล่องสมใจ สนนราคาอยู่ที่ประมาณ 3,000 เยนค่ะ (1,000 บาท)
สอง ส่ง 年賀状 (Nengajo) การ์ดอวยพรปีใหม่ให้ครอบครัวและเพื่อน ๆ
ถ้าตามซุปเปอร์พากันโปรโมทเซ็ตอาหารมงคล ร้านเครื่องเขียนเองก็ไม่น้อยหน้า เพราะพากันตั้งชั้นวางขายการ์ดอวยพรปีใหม่โดยเฉพาะ ยิ่งถ้าเป็นร้านใหญ่หน่อยก็จะมีให้เราเลือกกันแบบละลานตา มีทั้งแบบขายการ์ดแยกเป็นใบ และขายเป็นชุด 3-10 ใบ
สำหรับธรรมเนียมการเขียนการ์ดอวยพรปีใหม่นั้น อาจารย์ชาวญี่ปุ่นบอกว่าสมัยนี้อาจจะไม่ค่อยฮิตมากแล้วในหมู่คนรุ่นใหม่ เพราะคนนิยมส่งเป็น SMS หรือข้อความอวยพรกันทางโซเชียลมีเดียมากกว่า แต่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่และปู่ย่าตายายก็ยังชอบเขียนการ์ดอวยพรส่งทางไปรษณีย์กันอยู่ บางคนก็ส่งการ์ดกันเป็นตั้ง
เรื่องเซอร์ไพรซ์สำหรับเราก็คือ ตามที่ทำการไปรษณีย์จะมีตัวปั๊มคำอวยพรปีใหม่เตรียมไว้ให้ด้วยค่ะ ตอบโจทย์คนที่อยากส่งการ์ดหลายใบแต่เขียนมือไม่ไหว การ์ดอวยพรบางรุ่นก็จะเป็นแบบรวมค่าแสตมป์มาให้เรียบร้อยไม่ต้องหาซื้อติดเพิ่มเองด้วยนะคะ สะดวกมาก ๆ
ปีนั้นเราก็เลือกซื้อเซ็ตการ์ดปีใหม่ลายหนูมงคล (เพราะปีใหม่เป็นปีชวด) ส่งให้เพื่อน ๆ ทั้งที่ไทยและญี่ปุ่น สำหรับแสตมป์ส่งในญี่ปุ่นราคา 63 เยน ส่งต่างประเทศราคา 70 เยนค่ะ
ส่วนตัวเราชอบธรรมเนียมเขียนการ์ดปีใหม่นี้มาก ชอบทั้งการเป็นผู้ส่งและผู้รับ ปีนั้นนอกจากการ์ดจากเพื่อนสนิทแล้ว อาจารย์ประจำชั้นที่โรงเรียนสอนภาษาก็ส่งมาให้เราเช่นกันค่ะ เปิดตู้เจอคือทั้งตกใจและใจฟูสุด ๆ เป็นความรู้สึกที่ดีจังน้า~
การเตรียมตัวช่วงส่งท้ายปีก็จะมีประมาณนี้ค่ะ หัวหมุนอยู่ไม่นานวันสิ้นปีก็มาถึงแล้ว
31 ธันวาคม:
ทำความสะอาดบ้าน x กินโซบะข้ามปี x ตีระฆังปีใหม่ที่วัด
เราตื่นเช้ามาพบกับความเงียบสงัด เพราะเพื่อนข้างห้องต่างออกไปเที่ยวเมืองอื่นหรือไปฉลองปีใหม่กับครอบครัวกันหมด กิจกรรมวันนี้ก็ไม่มีอะไรมากค่ะ นอกจากทำความสะอาดห้อง ทิ้งขยะ ซักผ้า แล้วก็เตรียมของทำโซบะเป็นมื้อเย็น
การกินโซบะข้ามปี หรือ 年越し蕎麦 (Toshikoshi Soba) เป็นอีกธรรมเนียมช่วงปีใหม่ของชาวญี่ปุ่น โดยสื่อถึงการมีอายุยืนยาวเหมือนเส้นโซบะ หรือบางตำราก็ว่าเป็นสัญลักษณ์ของการตัดความโชคร้ายของปีนี้ออกซะก่อนเริ่มปีใหม่ เพราะเส้นโซบะนั้นตัดง่ายกว่าเส้นหมี่แบบอื่นนั่นเอง
ตามธรรมเนียมจะต้องกินโซบะแบบข้ามปี คือกินช่วงเที่ยงคืนของวันที่ 31 (เหมือนเวลาสวดมนตร์ข้ามปี) แต่เพราะเรากับเพื่อน ๆ วางแผนจะไปตีระฆังที่วัดคืนนี้ เลยเลื่อนมากินโซบะเป็นมื้อเย็นแทน ส่วนประกอบของโซบะสิ้นปีก็เป็นแบบตามใจฉันค่ะ ขอแค่เป็นโซบะในน้ำซุปก็พอ ซึ่งแน่นอนว่าหาซื้อได้ง่ายมากตามซุปเปอร์ แต่ความโก๊ะของเราก็คือ ลืมดูฉลากไปว่าโซบะที่ซื้อมาน่ะมันเป็นแบบจิ้มจุ่ม! (เพิ่งรู้ตัวตอนเอาเส้นมาลวกนี่แหละค่ะ)
เอาเถอะ อย่างน้อยก็ได้กินเส้นโซบะล่ะนะ
พอนาฬิกาบอกเวลา 4 ทุ่ม เราก็ออกเดินทางจากหอพักไปที่วัดเพื่อตีระฆังสิ้นปีกันค่ะ
สำหรับระฆังสิ้นปีนั้น มีชื่อเรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า 除夜の鐘 (Joya no Kane) ถ้าจะตีระฆังเราต้องไปที่วัดเท่านั้นไม่ใช่ที่ศาลเจ้า ความยากอีกอย่างคือไม่ใช่ทุกวัดที่จะมีระฆังสิ้นปี ซึ่งถ้าเป็นวัดดังก็ต้องรีบไปต่อแถวด้วย ไม่งั้นอาจจะได้ยืนรอจนเช้ามืด
สำหรับวัดดังที่เกียวโตคือ 知恩院 (Chion-in) วัดใหญ่ซึ่งมีระฆังขนาดใหญ่มากเช่นกัน ต้องใช้พระถึง 17 รูปเพื่อตีระฆัง ถือเป็นอีเวนต์วันสิ้นปีที่คนให้ความสนใจกันอย่างล้นหลาม ดูท่าว่าคิวต้องยาวมากแน่นอน เพราะงั้นขอผ่านค่ะ
วัดที่เราเลือกไปนั้นมีชื่อว่า 金戒光明寺 (Konkai Komyo-ji) เป็นวัดเล็ก ๆ ที่ต้องเดินขึ้นเนินไปหน่อย อยู่ห่างจากหอพักเราประมาณครึ่งชั่วโมงเดินเท้า ช่วงสี่ทุ่มวันสิ้นปีนั้นรอบข้างเงียบสงบมาก เดาว่าหลายครอบครัวคงไปรวมตัวที่วัดหรือศาลเจ้ากันหมด รถราก็ไม่เยอะเพราะไม่ใช่ย่านใจกลางเมือง ถ้าเดินคนเดียวก็อาจจะรู้สึกกลัวอยู่บ้าง เพราะกว่าจะไปถึงวัดได้นั้นเราต้องเดินผ่านสุสานด้วยล่ะค่ะ (บรื๋อ)
เราไปถึงที่วัดประมาณสี่ทุ่มครึ่ง บรรยากาศค่อนข้างเงียบและมีคนเพียงประปราย ทางวัดมีการแจกบัตรคิว วางกรวยกับแผงกั้นสำหรับจัดระเบียบแถวไปยังหอระฆัง แถมยังก่อกองไฟไว้ให้อีก ซึ่งเรากับเพื่อน ๆ ก็ไปยืนอังไฟรับความอบอุ่นกันอยู่นาน และเพราะตัววัดตั้งอยู่บนเนินเขา เราเลยได้เห็นวิวเมืองเกียวโตวันสิ้นปีจากมุมสูงด้วย ตัดสินใจไม่ผิดจริง ๆ ที่เลือกมาที่นี่
พอนาฬิกาตีบอกเวลาห้าทุ่มตรง ก็มีเสียงสวดมนตร์ดังมาจากตัวโบสถ์ เราชะเง้อมองเห็นคณะพระสงฆ์กำลังเดินเรียงแถวออกจากโบสถ์ โดยจะมีการสวดมนตร์วรรคหนึ่ง สั่นกระดิ่ง ออกเดิน หยุด และสวดมนตร์อีกวรรค วนลูปกันแบบนี้จนคณะพระสงฆ์เดินไปจนถึงหอระฆัง และเริ่มตีระฆังหนแรก
ตึง ~ ง เสียงระฆังหนแรกดังกังวานไปทั่วบริเวณวัด
ตามธรรมเนียมโบราณแล้วทางวัดจะตีระฆังสิ้นปีทั้งหมด 108 ครั้ง ซึ่งเป็นจำนวนของ ‘ความปรารถนาทางโลก’ ที่มนุษย์พบเจอตลอดช่วงชีวิต ถือเป็นความปรารถนาที่ทำให้มนุษย์เกิดความวิตกกังวลและเผชิญกับความยากลำบาก ดังนั้นเมื่อระฆังตีครบ 108 ครั้งก็จะถือว่าเหล่าความปรารถนาพวกนี้ได้รับการชำระล้างจนหมดสิ้นในปีนี้แล้วนั่นเอง
พอพระสงฆ์ตีระฆังครบแล้ว ก็มาถึงคิวของคนทั่วไปที่มาต่อแถวรอค่ะ มีความจริงจังระดับนึงเพราะมีการเก็บบัตรคิวด้วย (คงป้องกันคนแซงคิว) ระหว่างรอเราก็พยายามนับเสียงระฆัง ลุ้น ๆ อยู่ในใจว่าตัวเองจะได้ตีระฆังเป็นหนที่เท่าไหร่ อยู่ภายใน 108 ครั้งหรือเปล่านะ
ระฆังสิ้นปีของที่นี่ขนาดไม่ใหญ่มาก ไม่ต้องมีเชือกขึงหรือต้องใช้แรงคนเยอะ ๆ พอถึงคิวเราก็เดินไปจับเชือกที่ผูกกับไม้ตี โดยมีคุณลุงใส่หมวก security คอยยืนช่วยอยู่ ออกแรงนิดหน่อยเพื่อดึงเชือกให้ไม้ตีพุ่งไปกระทบกับตัวระฆัง แล้วก็ได้ยินเสียง ตึง~ง เป็นเสียงระฆังครั้งที่ห้าสิบกว่า ๆ และเป็นเสียงระฆังสิ้นปีครั้งแรกของเราที่ญี่ปุ่นค่ะ
ขอให้ความปรารถนาอันชั่วร้ายจงหายไป เตรียมพร้อมรับสิ่งดี ๆ ในปีใหม่นี้นะ สาธุ
หลังจากตีระฆังสิ้นปีแล้ว เราก็เดินตามผู้คนไปที่โบสถ์ซึ่งเปิดไฟสว่างไสว ตอนช่วงก่อนเที่ยงคืน พระที่น่าจะเป็นเจ้าอาวาสเริ่มสวดอวยพร และบอกให้เราเดินเข้าไปรับยันตร์จากท่านกันคนละใบ เป็นอันว่าเสร็จพิธี
แต่เดินออกจากโบสถ์แล้วก็เกิดหิวขึ้นมายังไงไม่รู้ คณะเราเลยถือโอกาสแวะคาเฟ่เล็ก ๆ ในบริเวณวัด ซื้อซอฟต์ครีมของ Cremia ในโคนคุ้กกี้ทานเป็นมื้อแรกของปี และเป็นการปิดท้ายภารกิจของวันสิ้นปีนี้ค่ะ
1 มกราคม:
ตื่นไปดูแสงแรกบนยอดเขา x เคารพศาลเจ้า x กินอาหารมงคล
เสียงรถไฟกำลังเข้าเทียบชานชาลาปลุกเราให้ตื่นจากภวังค์
ตอนนี้เป็นเวลา 5.35 น. รถไฟขบวนแรกมาถึงสถานีโมโตะทานากะตามเวลาพอดีเป๊ะ หลังจากตีระฆังวันสิ้นปี เราก็รีบกลับห้องมานอนเอาแรงเพื่อตื่นมาขึ้นรถไฟแต่เช้ามืด ปลายทางของเช้านี้คือภูเขาคุรามะทางตอนเหนือของเกียวโต ถ้าจะให้ทันดูพระอาทิตย์ขึ้นในวันปีใหม่ก็ต้องขึ้นรถไฟขบวนนี้เท่านั้น
การดูพระอาทิตย์ขึ้นเป็นครั้งแรกของปี หรือ 初日の出 (Hatsu Hinode) เป็นธรรมเนียมที่ชาวญี่ปุ่นทำกันมาตั้งแต่สมัยก่อน โดยมีความเชื่อว่าเทพแห่งวันปีใหม่ (年神様 Toshigami-sama) จะเดินทางมาพร้อมกับแสงแรก ซึ่งชาวญี่ปุ่นสมัยก่อนก็จะขอพรให้ตลอดทั้งปีมีพืชพรรณอุดมสมบูรณ์และมีแต่ความสุขนั่นเอง
ตามเว็บไซต์ท่องเที่ยวจะมีการรวมจุดดูแสงแรกของปียอดนิยมในหมู่ชาวญี่ปุ่นเอาไว้ด้วย ซึ่งก็มีทั้งบนยอดเขา ริมทะเล หรือตามตึกสูง เช่น Tokyo Skytree ที่ขยายเวลาเปิดบริการสำหรับช่วงปีใหม่โดยเฉพาะ
สำหรับเราที่อยู่เกียวโตนั้น ปีใหม่นี้จะไปดูพระอาทิตย์ขึ้นที่วัดคุรามะ หรือ 鞍馬寺 (Kurama-dera) ที่ตั้งอยู่บนยอดเขาชื่อเดียวกัน
นั่งสัปหงกอยู่ไม่นานรถไฟก็แล่นมาจอดที่สถานีปลายทาง บรรยากาศรอบข้างเงียบสงัด ท้องฟ้าด้านนอกยังมืดสนิท สำหรับคนที่มาเที่ยวตามวันปกติ พอออกจากสถานีรถไฟก็สามารถเดินไปขึ้นโรปเวย์ (Ropeway) เพื่อขึ้นเขาต่อได้ แต่สถานีโรปเวย์นั้นเปิดทำการตอน 9 โมง และตอนนี้เป็นเวลา 6.03 น. ซึ่งหมายความว่า … เราต้องเดินขึ้นเขากันเองค่ะ (/ปาดเหงื่อล่วงหน้า)
โชคดีที่ทางวัดก็ทำทางเดินขึ้นเขาไว้ให้อย่างดี มีทั้งบันไดและทางลาดวกวนไปสู่วัดบนยอดเขา ระหว่างทางเราเดินผ่านซุ้มประตูวัดที่มีไฟนำทางแบบสลัว ๆ ให้บรรยากาศลึกลับน่าขนลุกอยู่หน่อย ๆ ดีจังที่ลากรุ่นน้องมาเป็นเพื่อนด้วย
เราสาวเท้าเดินไปตามทางลาดชันท่ามกลางอากาศเลขตัวเดียว แถมยังเป็นการเดินขึ้นเขาแข่งกับเวลาเพราะ app พยากรณ์อากาศบอกว่าพระอาทิตย์ปีใหม่จะขึ้นตอนประมาณ 7 โมงเช้า ปรากฏว่าใช้เวลาราว ๆ ครึ่งชั่วโมงก็มาถึงยอดเขาจนได้
นอกจากคณะเราแล้วก็มีชาวญี่ปุ่นหลายคนมายืนรอตั้งกล้องเตรียมถ่ายรูปแสงแรกของปี (คนแก่ก็มีค่ะ คุณตาคุณยายเดินขึ้นเขากันเก่งมาก!) บางคนก็ยืนเอามืออังกองไฟที่จุดไว้ด้านหน้าวัด พอได้สูดอากาศเย็น ๆ บนยอดเขา ปนกับกลิ่นไม้จากกองไฟ ไม่รู้ทำไมแต่มันเป็นบรรยากาศที่ทำให้รู้สึกอบอุ่นและสดชื่นอย่างบอกไม่ถูกเลย
ใกล้เจ็ดโมง แสงอาทิตย์ก็เริ่มแตะที่ริมขอบฟ้า
เหนือภูเขาเริ่มมีเมฆเกาะกลุ่มบาง ๆ ขณะที่ท้องฟ้ากำลังทยอยไล่สี เรากับกลุ่มผู้ตื่นเช้าอีกราวห้าสิบชีวิตกำลังยืนเกาะกลุ่มรอคอยแสงแรกแห่งปีอย่างตื่นเต้น
และในที่สุดแสงอาทิตย์แรกของปีก็โผล่พ้นยอดเขา
รอบตัวเรา มีทั้งคนที่รัวชัตเตอร์เก็บภาพ บางครอบครัวก็เกาะกลุ่มถ่ายรูปกันเป็นที่ระลึก บางคนก็ยืนดื่มด่ำกับบรรยากาศยามเช้าที่แสนพิเศษและเลือกจะเก็บภาพความทรงจำนี้ด้วยตาเปล่า
ไหน ๆ ก็ขึ้นมาถึงวัดแล้ว เราเลยเดินเข้าไปไหว้พระในวัดคุรามะซึ่งหันหน้ารับแดดยามเช้าอย่างเต็มที่ สำหรับประวัติของวัดคุรามะนั้นคาดว่าสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 770 ที่นี่มีตำนานที่น่าสนใจมากมายเลยค่ะ โดยในตำราบันทึกไว้ว่าพระจีนรูปหนึ่งฝันว่ามีผู้บอกให้เดินทางไปยังภูเขาทางทิศเหนือ ซึ่งเชื่อกันว่ามีพลังวิญญาณแห่งภูเขา รวมถึงเท็งงุ (Tengu) เทพจมูกยาวสีแดงในตำนานญี่ปุ่น ปกปักรักษาอยู่ พอไปถึงยอดเขาปรากฏว่าโดนยักษ์ปีศาจเข้าโจมตี แต่เทพบิชามอนเท็น (Bishamonten) ผู้คุ้มครองแห่งทิศเหนือก็เข้ามาช่วยไว้ เพื่อเป็นการขอบคุณ พระท่านจึงสร้างอาศรมเพื่อเป็นการบูชากับบำเพ็ญเพียร จนเวลาผ่านไปราว 20 ปีก็มีการสร้างวัดขึ้นอย่างเป็นทางการ
ส่วนชื่อวัดคุรามะนั้นมาจากคำว่า 鞍 (kura) แปลว่า อาน และ 馬 (uma) แปลว่า ม้า
ตามเรื่องเล่า ระหว่างเดินทางมายังทิศเหนือตามนิมิต พระจีนท่านเกิดหลงทางเข้า เลยมีเทพมากระซิบบอกในฝัน (อีกแล้ว) ว่าให้มองไปยังท้องฟ้าด้านทิศตะวันออก ตื่นเช้ามาพระท่านลองมองไปก็เห็นม้าสีขาวไร้อาน แล้วก็ตามม้าสีขาวไปจนถึงยอดเขาได้ในที่สุดค่ะ
ตำนานยังเล่าว่าซามุไร มินาโมะโตะ โยชิสึเนะ (Minamoto no Yoshitsune) เองก็เคยบวชเป็นพระอยู่ที่นี่ โยชิสึเนะได้แอบไปฝึกปรือฝีมือดาบกับราชาแห่งเทพเท็งงุบนภูเขา จนในที่สุดก็กลับไปแก้แค้นตระกูลที่ลอบสังหารบิดาของตนได้ หลายคนฟังชื่อเขาอาจจะยังไม่คุ้น แต่โยชิสึเนะถือเป็นซามุไรผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นเลยล่ะค่ะ ซึ่งเรื่องราวของเขาจะข้องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ยุคเฮอันตอนปลาย นั่งอ่านเรื่องราวชีวิตของโยชิสึเนะไป แล้วก็แอบคิดว่ามังงะเรื่องดาบพิฆาตอสูร (Kimetsu no Yaiba) น่าจะได้แรงบันดาลใจมาจากซามุไรท่านนี้ไม่มากก็น้อยนี่แหละ
กลับมาที่วัดคุรามะ เราเข้าไปด้านในเพื่อไหว้พระแล้วก็เดินดูเครื่องรางพอเป็นพิธี ที่นี่เป็นวัดพุทธนิกายเฉพาะแห่งเดียวที่มีการบูชาเทพสามองค์ตามความเชื่อ ได้แก่
- บิชามอนเท็น (毘沙門天王) ตัวแทนแห่งพระอาทิตย์และแสงสว่าง
- เซ็นจูคันนอน (千手觀世音菩薩) หรือเจ้าแม่กวนอิมพันมือ ตัวแทนแห่งดวงจันทร์และความรัก
- โกะโฮ-มาโอซอน(護法魔王尊) ตัวแทนแห่งโลกและพลัง
จากตัววัดคุรามะจะมีทางเดินลงภูเขาไปยังศาลเจ้าคิฟุเนะได้ด้วย ใช้เวลาประมาณชั่วโมงกว่า ๆ เดินลงไม่เหนื่อยมากเท่าตอนเดินขึ้น และที่สำคัญพอเช้าแล้วก็ได้เห็นวิวแมกไม้ในป่าดูสวยงาม สมกับที่ทางเดินตรงนี้ได้ชื่อว่าเป็นเส้นทางอันศักดิ์สิทธิ์ ระหว่างทางก็มีศาลเจ้าเล็ก ๆ ให้เราแวะสักการะกับนั่งพักเหนื่อย
จากต้นทางจะมีกล่องใส่ไม้เท้าเดินป่า เป็นท่อนไม้ยาว ๆ สำหรับการเดินเขา พอลงไปถึงตรงศาลเจ้าคิฟุเนะด้านล่างก็มีกล่องให้ใส่คืนด้วยค่ะ เห็นแบบนี้แล้วก็ได้แต่คิดว่า สมกับเป็นญี่ปุ่นนนนนนน ซะจริง
ศาลเจ้าคิฟุเนะ (貴船神社) นั้นเป็นศาลเจ้าดังของเกียวโต จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีคนเดินทางมาสักการะศาลเจ้ากันแต่เช้า ที่หน้าเสาโทริอิมีป้ายเขียนคันจิตัวใหญ่ว่า 初詣 (Hatsumoude) หมายถึงการสักการะศาลเจ้าครั้งแรกของปีค่ะ คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะไปสักการะศาลเจ้ากันช่วงวันปีใหม่จนถึง 3 มกราคม มังงะญี่ปุ่นหลายเรื่องก็มักจะมีฉากพาตัวละครไปสักการะศาลเจ้ารับปีใหม่ ถือเป็นธรรมเนียมที่ทำกันโดยทั่วไป ถ้าเป็นศาลเจ้าดังบางแห่ง อย่างศาลเจ้าฟุชิมิอินาริ เห็นว่าช่วงปีใหม่มีคนญี่ปุ่นเดินทางมาสักการะจากทั่วทุกสารทิศรวมกว่า 2 ล้านคนแน่ะ
ที่ศาลเจ้าคิฟุเนะคนไม่เยอะเท่าไหร่เราเลยใช้เวลาแค่แป๊บเดียวในการยืนต่อแถว โยนเหรียญ สั่นกระดิ่ง และคำนับขอพร เป็นอันเสร็จพิธีค่ะ ก่อนกลับก็ไม่ลืมถ่ายรูปบันไดที่มีโคมสีแดงเรียงรายเก็บไว้เป็นที่ระลึก
สำหรับใครที่เป็นแฟนนิยายเรื่อง โชเน็นอนเมียวจิ จอมเวทปราบมาร ที่ศาลเจ้าคิฟุเนะเป็นอีกสถานที่ที่ต้องมาตามรอยค่ะ เพราะมาซาฮิโระ (พระเอกของเรื่อง) ดูจะมีดวงผูกกับเทพทากาโอกามิซึ่งสถิตอยู่ที่ศาลเจ้านี้ซะเหลือเกิน
ขากลับจากศาลเจ้าคิฟุเนะ เราบังเอิญได้ขึ้นรถไฟขบวนพิเศษที่มีชื่อว่า คิราระ (KIRARA) รถไฟขบวนนี้มีความพิเศษตรงที่ว่ามีบานหน้าต่างขนาดใหญ่และมีที่นั่งหันชมวิวด้านนอกโดยเฉพาะ มาช่วงฤดูหนาวเลยได้เห็นวิวต้นไม้โกร๋น ๆ ถ้ามาช่วงฤดูใบไม้ร่วงน่าจะเห็นวิวใบไม้แดงตลอดทาง สำหรับใครที่สนใจอยากนั่งรถไฟขบวนนี้สามารถเช็คตารางเดินรถได้ ที่นี่
กลับถึงตัวเมืองตอนเกือบ 10 โมงเช้าพร้อมกับความหิวเต็มพิกัด (แหงสิ ก็ไม่ได้กินอะไรมาตั้งแต่เที่ยงคืน) เราเลยแวะเซเว่นซื้อไอติมชาเขียวมากินรองท้องก่อนกลับห้อง เพราะยังมีภารกิจสุดท้ายรอเราอยู่
ภารกิจที่ว่านี้คือ การกินอาหารมงคลรับปีใหม่ค่ะ
อย่างที่เกริ่นไปตอนแรกเรื่อง Osechi หรือเซ็ตอาหารที่ประกอบไปด้วยของที่มีความมงคลต่าง ๆ ซึ่งเราไปซื้อจากซุปเปอร์แถวบ้านมาเตรียมไว้เรียบร้อย แต่นอกจาก Osechi แล้ว อาหารรับปีใหม่ตามธรรมเนียมของชาวญี่ปุ่นก็ยังมีอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น
- Hanabiramochi (葩餅) ขนมโมจิแป้งบางห่อโกโบ รูปร่างคล้ายกลีบดอกไม้ สื่อความหมายถึงการเริ่มต้นใหม่ และการมีอายุยืนยาว (รากไม้โกโบเป็นสัญลักษณ์ถึงสุขภาพและการมีอายุยืน)
- Obukucha (大福茶) ชาแห่งความโชคดี นิยมดื่มกันในวันปีใหม่ บางที่ก็จะใส่บ๊วยแห้ง หรือใส่คอมบุที่พันเป็นรูปโบว์สวยงามลงไปด้วย ธรรมเนียมการดื่มชาโชคดีนั้นเริ่มต้นในเกียวโตสมัยเฮอัน ตำนานเล่าว่าในช่วงที่เกิดโรคระบาด พระรูปหนึ่งได้นำชาที่ผสมบ๊วยกับคอมบุไปให้ผู้ที่มาไหว้พระที่วัด ปรากฏว่าคนที่ดื่มชาก็อาการดีขึ้น จักรพรรดิเองก็ได้ดื่มชาสูตรนี้ กลายเป็นชาโชคดีที่ดื่มกันเป็นธรรมเนียมช่วงปีใหม่
- Nanakusagayu (七草がゆ) ข้าวต้มสมุนไพร 7 อย่าง ทำจากพืชพรรณที่ออกผลในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ ตามธรรมเนียมแล้วจะทานเป็นมื้อเช้าของวันที่ 7 มกราคม
- Ozoni (雑煮) ซุปใส่โมจิย่างที่นิยมกินในช่วงปีใหม่
ซึ่งในบรรดาของกินวันปีใหม่นั้น ซุป Ozoni ดูทำง่ายสุด จึงเป็นเมนูผู้ถูกเลือกค่ะ
ซุปปีใหม่ Ozoni นั้นนิยมทานกันทั่วญี่ปุ่นก็จริง แต่ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ว่าแต่ละภูมิภาคต่างมีส่วนผสมในซุปที่ไม่เหมือนกันค่ะ ตัวอย่างเช่น
- ฮอกไกโด: ใช้น้ำซุปกระดูกไก่เป็นเบส ใส่โมจิย่างรูปสี่เหลี่ยม เนื้อไก่ แครอท หัวไชเท้า รากโกโบ
- อิวาเตะ: ใช้น้ำซุปดาชิจากปลาแห้ง ใส่โมจิย่างรูปสี่เหลี่ยม นอกจากพวกผักและเนื้อไก่แล้ว ก็ใส่ไข่ปลาแซลมอนลงไปด้วย แถมบางเมืองก็มีซอสหวานจากถั่วให้กินคู่กับโมจิ
- โตเกียว: ใช้น้ำซุปดาชิจากปลาโอแห้ง ใส่โมจิย่างรูปสี่เหลี่ยม เห็ด ผักโขมญี่ปุ่น ปรุงรสด้วยเหล้ามิรินกับโชยุ
- ทตโตะริ: อันนี้แปลกกว่าใครเพื่อน เพราะเป็นซุปถั่วแดงใส่โมจิรูปร่างกลม สูตรเดียวกับขนมหวานเซ็นไซ (Zenzai) ตามความเชื่อว่าสีของถั่วแดงจะช่วยปัดเป่าความชั่วร้ายได้จึงถือเป็นของกินมงคล
- เกียวโต: ใช้น้ำซุปจากมิโสะขาว ใส่โมจิรูปร่างกลม และพวกผักต่าง ๆ ก็จะหั่นเป็นรูปกลม เพราะสื่อถึงความสุขและความสามัคคีในครอบครัวนั่นเอง
แน่นอนว่าคนไทยในเกียวโตอย่างเราก็ต้องทำ Ozoni สูตรเกียวโตสิคะ จากที่ไม่เคยซื้อมิโสะขาวติดบ้านไว้เลยก็ต้องไปหาซื้อมาจนได้ แต่ลองทำแล้วรู้สึกรสชาติน้ำซุปมันหวานปะแล่ม ๆ ไม่ค่อยถูกปากเท่าไหร่ ต้องใส่โชยุตามลงไปจนในที่สุดก็ได้รสชาติที่คุ้นเคย ทานคู่กับเซ็ตอาหารมงคลเป็นการปิดท้ายภารกิจปีใหม่นี้
สรุปก็คือเป็นวันปีใหม่ที่กิจกรรมเยอะจริงๆ และที่สำคัญคือ แทบไม่ได้นอนค่ะ ฮ่า
ถึงจะเหนื่อยแต่ว่าสนุก และเป็นประสบการณ์แปลกใหม่ที่ดีมาก ๆ เหมือนได้ทำสิ่งมงคล กินอาหารมงคลเก็บแต้มบุญไว้ใช้ตลอดปี สำหรับใครที่อยากลองทำภารกิจ ‘ปีใหม่อย่างคนญี่ปุ่น’ เหมือนกับเรา สรุปไว้ให้ในตารางด้านล่างนะคะ
年末 ก่อนวันสิ้นปี | 大晦日 วันสิ้นปี (31 ธันวาคม) | 元旦 วันปีใหม่ (1 มกราคม) |
– ทำความสะอาดบ้าน – ซื้อวัตถุดิบเตรียมทำอาหาร – สั่งจอง/หาซื้อเซ็ตอาหารมงคล (Osechi) – ส่งการ์ดอวยพรปีใหม่ (Nengajo) | – กินโซบะข้ามปี (Toshikoshi Soba) – ตีระฆังสิ้นปี (Joya no Kane) | – ดูแสงแรกของปี (Hatsu Hinode) – เคารพศาลเจ้าครั้งแรกของปี (Hatsumoude) – ทานอาหารมงคลและซุปโมจิ |
新年あけましておめでとうございます!
ขอให้ผู้อ่านทุกท่านมีความสุขในวันปีใหม่นี้นะคะ
แล้วเจอกันในบทความฉบับหน้าค่ะ!
Resource:
ว่าด้วยอาหารมงคลโอะเซจิ https://www.oisix.com/shop.osechi–cont-type__html.htm
ธรรมเนียมการตีระฆังวันสิ้นปี https://matcha-jp.com/en/1340
สถานที่ดูแสงแรกยอดนิยม https://www.hankyu-travel.com/newyear/kokunai/hatsuhinode/
ตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับวัดคุรามะ https://www.discoverkyoto.com/places-go/kurama-dera/
เรื่องราวชีวิตของมินาโมะโตะ โยชิสึเนะ https://www.marumura.com/minamoto-no-yoshitsune-part-1/
เกี่ยวกับนิกายของวัดคุรามะ https://www.learnjikidenreiki.com/post/history-of-mt-kurama
สูตรซุปโอโซนิทั่วญี่ปุ่น https://www.maff.go.jp/j/pr/aff/2001/spe2_03.html
Kyoto Collection
Kyoto Hidden Place :: 3 ที่ลับในเกียวโตที่คนไม่ค่อยรู้จัก